Agri – Map สร้างอาชีพเกษตรยั่งยืน ค่าใช้จ่ายลด ผลตอบแทนสุทธิเพิ่ม

Agri – Map สร้างอาชีพเกษตรยั่งยืน ค่าใช้จ่ายลด ผลตอบแทนสุทธิเพิ่ม

สศก. เผย ผลการประเมินโครงการ Agri – Map ช่วยเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตเหมาะสม สร้างความยั่งยืนในอาชีพ มีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การประเมินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) จากการดำเนินงานของ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับผิดชอบติดตามประเมินผลโครงการ

Agri – Map สร้างอาชีพเกษตรยั่งยืน ค่าใช้จ่ายลด ผลตอบแทนสุทธิเพิ่ม Agri – Map สร้างอาชีพเกษตรยั่งยืน ค่าใช้จ่ายลด ผลตอบแทนสุทธิเพิ่ม

ที่ผ่านมาโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) เป็นโครงการตามนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม โดยปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีศักยภาพทางกายภาพและเศรษฐกิจสูงกว่าชนิดเดิม มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตแล้วรวมทั้งสิ้น 1 ล้านไร่ มีสินค้าปรับเปลี่ยน ที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน และเกษตรผสมผสาน

ผลการประเมินผลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2566 จากกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 251 ราย ใน 14 จังหวัด พบว่า เกษตรกรร้อยละ 81 ยังคงดำเนินกิจกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ตาม Agri - Map อย่างต่อเนื่อง และในจำนวนดังกล่าวนี้ ร้อยละ 88 ยังคงนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการมาใช้ประโยชน์

โดย สศก. พบว่า ในปี 2566 เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิจากการปลูกข้าวเพียง 1,021 บาทต่อไร่ต่อปี และในปี 2566 เกษตรกรที่ยังคงปลูกข้าวในพื้นที่เดิม มีผลตอบแทนสุทธิ 1,957 บาทต่อไร่ต่อปี แต่ในส่วนของเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนแผนการผลิตตามโครงการฯ เกษตรกรสามารถมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

โดยผลติดตามปี 2566 จำแนกตามสินค้า ที่ปรับเปลี่ยน พบว่าการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิ 23,525 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าผลตอบแทนสุทธิการปลูกข้าว 21,568 บาทต่อไร่ต่อปีการปลูกอ้อยโรงงานเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิ 7,871 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าผลตอบแทนสุทธิการปลูกข้าว 5,914 บาทต่อไร่ต่อปี

ส่วนการทำเกษตรผสมผสานเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิ 4,322 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าผลตอบแทนสุทธิการปลูกข้าว 2,365 บาทต่อไร่ต่อปี ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก เนื่องจาก เห็นว่า เมื่อปรับเปลี่ยนการผลิตแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น มีแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือน และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

สำหรับผลการติดตามของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนการผลิต 65,945 ไร่ สามารถดำเนินการได้ 64,559 ไร่ (ร้อยละ 98 ของเป้าหมาย) ซึ่ง สศก. ได้ลงสำรวจผลลัพธ์เบื้องต้นของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา อุดรธานี และขอนแก่น รวมเกษตรกรตัวอย่างทั้งสิ้น 117 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รายใหม่ โดยภาพรวมสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิต 1,789 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 135.12 ของเป้าหมาย 1,324 ไร่) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้นจำนวน 197 ราย ครบตามเป้าหมาย 

Agri – Map สร้างอาชีพเกษตรยั่งยืน ค่าใช้จ่ายลด ผลตอบแทนสุทธิเพิ่ม Agri – Map สร้างอาชีพเกษตรยั่งยืน ค่าใช้จ่ายลด ผลตอบแทนสุทธิเพิ่ม

โดยเกษตรกรร้อยละ 91 นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากพึ่งเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิต และคาดว่าเกษตรกรจะเริ่มทยอยได้รับผลผลิตในปี 2568 โดย สศก. จะดำเนินการติดตามและรายงานผลในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในปีที่ 1 - 4 ของการปรับเปลี่ยน เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากผลผลิตระยะสั้นเป็นส่วนมาก เช่น พืชผักสวนครัว การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ แต่ยังไม่ได้รับผลผลิตจากพืชระยะยาว เช่น ไม้ผล และไม้ยืนต้น และจากการประเมินผล แสดงให้เห็นว่า โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ดำเนินการได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์และมีความยั่งยืน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ ดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิต และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก

 อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมเกษตรผสมผสาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมส่งเสริมการเกษตร ควรพิจารณาเพิ่มการสนับสนุนพืชที่ให้ผลตอบแทนระยะสั้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานในระยะแรกที่ปรับเปลี่ยนการผลิต