ส่องทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกปี68 'ภูมิรัฐศาสตร์' ตัวแปรสร้างความผันผวน

ส่องทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกปี68 'ภูมิรัฐศาสตร์' ตัวแปรสร้างความผันผวน

กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68

KEY

POINTS

  • กลุ่มปตท. มองแนวโน้มน้ำมันยังคงมีเพิ่มขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
  • อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม Non-OPEC+ ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ แคนาดา บราซิล และกายอานา และกลุ่ม OPEC+ มีแผนจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิต
  • ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง และการการคว่ำบาตรสหรัฐฯ ต่ออิหร่านที่เข้มข้น คาดกว่าราคาน้ำมันดิบปี 68 ยังคงมีความผันผวน ในกรอบ 70 - 80 เดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ จัดงาน 2024 The Annual Petroleum Outlook Forum “Regenerative Thailand with Cleanergy คิดนำ ล้ำหน้า ขับเคลื่อนอนาคตไทย ด้วยพลังงานสะอาด” โดยความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกลุ่ม ปตท. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นการจัดงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์และแนวโน้มทิศทางราคาน้ำมัน สถานการณ์พลังงาน และความท้าทายที่กระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก โดยทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน หรือ “PRISM Experts”

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกต่างมุ่งนโยบายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปตท. ในกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจน้ำมัน จะต้องเตรียมความพร้อมจัดหาน้ำมันดิบรับมือกับสถานการณ์ผันผวนและความขัดแย้งจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เพื่อความยั่งยืนทางด้านพลังงาน นับเป็นความท้าทายของกลุ่มโรงกลั่นเพื่อปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดด้วย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าว นับเป็นความร่วมมือที่ช่วยให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาพลังงานทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยสถานการณ์พลังงานของโลกในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ตลอดจนกฎระเบียบ นโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ ส่งผลให้ทั่วโลกและประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญ และตระหนักในเรื่องของพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง รวมทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานและธุรกิจอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องต่างต้องมีการปรับตัว และร่วมกันขับเคลื่อนพลังงานของประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

งานในปีนี้จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Regenerative Thailand with Cleanergy: คิดนำ ล้ำหน้า ขับเคลื่อนอนาคตไทย ด้วยพลังงานสะอาด” สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ประเทศไทยแข็งแรงและเติบโตในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน

นางรุ่งนภา จันทร์ชูเกียรติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยได้มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีการเตรียมพร้อมในการจัดหาน้ำมันดิบ รองรับสถานการณ์ความผันผวน และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่นได้เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด โดยพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันต่ำ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 

ภายในงาน ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ได้กล่าวถึงความต้องการใช้น้ำมันในปี 2568 ว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของสงครามการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาท่านใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้

ในส่วนของอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม Non-OPEC+ ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล และกายอานา และกลุ่ม OPEC+ มีแผนจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิต ขณะเดียวกันท่ามกลางความไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้ง

รวมไปถึงมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านที่เข้มข้นขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบใน ปี 2568 ยังคงมีความผันผวนและเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม อนาคตอันใกล้นี้ อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันเยอะสุด แซงสหรัฐอเมริกา จีน และ EU ตามลำดับ จากปัจจุบันมีการบริโภคอันดับที่ 4 โดยการใช้งานน้ำมันมีการใช้งานภาคขนส่งมากที่สุดถึง 58% รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม 28% ทำให้ในปีนี้การเติบโตทั่วโลกที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ จากที่คาดว่าเติบโตเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 3.2% ถือว่าคงที่เมื่อเทียบกับปีนี้ทั้ง ๆ ที่เห็นปัจจัยที่การสนับสนุนเศรษฐกิจโตแต่อัตราการเติบโตยังคงที่เนื่องจากยังมีปัจจัยหลายปัจจัยที่เป็นแรงกดดันเศรษฐกิจคือ ปัญหาหนี้สาธารณะตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น การที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตคือนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐในรอบ 4 ปี

ดังนั้น นโยบายของทรัมป์จะแก้ไขการขาดดุลการค้าโดยเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือจีน และทำให้สินค้าอื่นๆ ได้รับผลกระทบอีก ซ้ำเติมประเทศจีนจะเห็นความอ่อนแอจากเศรษฐกิจจีน อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหารุมเร้าภายในอาทิ วิกฤติอสังหาฯ และหนี้ครัวเรือน หากจีนแก้ปญหาได้เป็นรูปธรรมการใช้น้ำมันของคนจีนก็จะเพิ่มขึ้นในปีหน้าเช่นกัน ส่วนราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีความผันผวนโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

“อนาคตการใช้น้ำมันของคนจีนอาจไม่รุ่งเรืองเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นประเทศอินเดียขึ้นมาแทนตั้งแต่ปี 2325 น่าจะถึง 75% ของการใช้ทั้งโลกในปี 2025-2030 มาจากจำนวนประชากรที่สูง และมีประชากรวัยทำงานเยอะกว่าประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อีกทั้งอินเดียยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเซาท์อีสเอเชียและภูมิภาคตะวันออกกลาง มีระบบไฟเบอร์ออฟติกที่พัฒนาและรัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ 100%”