CPTPP ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง อังกฤษเตรียมร่วมภาคีสิ้นปี67
ข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายหลายกรอบมีบทบาทและหน้าที่ต่างกันไปแล้วแต่ประเทศผู้ริเริ่ม จะกำหนดว่าต้องการให้ข้อตกลง หรือ กรอบความร่วมมือนั้นๆเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด วัตถุประสงค์หนึ่ง
แต่ก็มีบางข้อตกลงที่เกิดแล้วแต่ผู้ให้กำเนิดกลับละทิ้งไปหลังการเปลี่ยนผู้นำอย่าง ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสาหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP :Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
สหรัฐได้สร้างกรอบความร่วมมือ TPP ขึ้นด้วยชั้นเชิงระดับผู้นำโลกสามารถระดมสมาชิกได้มากจนน่าจะเป็นข้อตกลงการค้าเปลี่ยนโลกได้ แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ก็ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว
จากวันนั้นถึงวันนี้ ในโอกาสการประชุมครั้งที่ 111 ของคณะกรรมการว่าด้วยข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค (CRTA) ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เมื่อวันที่ 18 พ.ย. สมาชิก WTO ได้ทบทวนข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคหลายฉบับ
โดยคณะกรรมการได้พิจารณาการบังคับใช้ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สำหรับบรูไนดารุสซาลาม ชิลี และมาเลเซีย ครอบคลุมสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ CPTPP มีผลบังคับใช้กับมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2022 ,ชิลีเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2023 และบรูไนดารุสซาลามเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2023
“ดังนั้น ณ วันที่ 12 ก.ค. 2023 CPTPP จึงมีผลบังคับใช้กับประเทศผู้ลงนามเดิมทั้ง 11 ประเทศ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนามด้วย”
ภายใต้กลไกการเร่งรัดของ CPTPP ได้ดำเนินการลดหย่อนภาษีศุลกากรทั้งหมดตามที่ตกลงไว้ โดยกลุ่มแรกมีผลบังคับใช้ตามข้อตกลง ขณะที่ข้อผูกพันด้านภาษีศุลกากรแต่ละประเทศสมาชิกจะแตกต่างกันไปได้แก่ ในปี 2025 สำหรับชิลี ,ปี 2028 สำหรับบรูไนดารุสซาลาม และปี 2033 สำหรับมาเลเซีย
เมื่อดำเนินการจนครบถ้วนแล้ว ภาษีศุลกากรของบรูไนดารุสซาลามทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับภาคี CPTPP อื่นๆ โดยชิลีจะยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับ 99.9% ของรายการภาษีศุลกากรทั้งหมด และมาเลเซียจะยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับ 99.8% ของรายการภาษีศุลกากรทั้งหมด ในด้านการค้าบริการ ภาคีทั้งสองให้คำมั่นที่จะขยายภาคส่วนภายใต้การเปิดเสรีให้กว้างขึ้นนอกเหนือจากพันธกรณีภายใต้ GATS
“บรูไน ชิลี และมาเลเซียระบุว่า CPTPP มอบโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ให้แก่พวกเขา นอกจากนี้ พวกเขายังยินดีที่สหราชอาณาจักรจะเข้าร่วม CPTPP ในอนาคตอันใกล้นี้ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ ท่ามกลางการเดินหน้าทบทวนข้อตกลงเป็นการทั่วไปและปรับปรุงให้ข้อตกลงมีแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงการเข้ามาภาคใหม่ๆด้วย”
ข้อมูลจาก บทความ CPTPP: ใครได้ ใครเสีย และทางออกของประเทศ เผยแพร่โดย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สาระสำคัญบางส่วน ระบุว่าไทยต้องขยายพันธมิตรในข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) เพื่อเปิดตลาดให้ทัดเทียมกับบรรดาคู่แข่งในภูมิภาคและดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ แต่ FTA สมัยใหม่อย่าง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ล้วนมีเงื่อนไขที่มุ่งลดการอุดหนุนโดยรัฐหรือการตั้งกำแพงกีดกันธุรกิจต่างชาติให้ขยายขอบเขตไปครอบคลุมภาคบริการซึ่งรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย
รวมทั้งมีเงื่อนไขที่มุ่งคุ้มครองการคิดค้นนวัตกรรมอย่างจริงจังโดยเฉพาะการขยายพันธุ์พืชและการผลิตยา การเข้าร่วม CPTPP จึงมีผลกระทบด้านลบต่อหลายภาคส่วนเช่นกัน
สำหรับCPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ครอบคลุมประชากร 7% และขนาดเศรษฐกิจ 13% ของโลก รวมถึงมีมหาอำนาจทางเศรษฐกิจให้ความสนใจเข้าร่วมเพิ่มเติมทั้งสหราชอาณาจักร (อยู่ระหว่างเจรจา) รวมถึงจีนและไต้หวัน (ยื่นหนังสือขอเจรจาเมื่อ 16 และ 22 ก.ย. 2564 ตามลำดับ) ซึ่งหากรวมกลุ่มประเทศที่สนใจเหล่านี้จะทำให้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของโลก
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้า ไทยอาจต้องพิจารณากำหนดจุดยืนทางการค้าและการลงทุนที่เหมาะสมซึ่งCPTPP อาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและรอบคอบกันต่อไป