ส่งออกข้าวไทยปี68เผชิญผลผลิตเพิ่ม ซ้ำสต๊อกท่วมโลกกดดันราคาผันผวน
การส่งออกข้าวเดือนม.ค.-ก.ย.2567 มีปริมาณ 7,448,941 ตัน เพิ่มขึ้น 22%มูลค่า172,019.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น46% เป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกข้าวของไทยปี 2567 น่าจะแตะ 9 ล้านตัน
ส่งต่อมาถึงราคาข้าวในประเทศที่ ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวเปลือกเจ้า(ความชื้น15%) จ.อยุธยา ตันละ 9,500-9,900 บาท ส่วนข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ (67/68) จ.บุรีรัมย์ ตันละ 14,200-14,700 บาท อย่างไรก็ตามผลจากที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เดินทางไปศึกษาภาวะผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2567/68 ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเร็วๆนี้ พบว่าปัจจัยแวดล้อมการผลิต และการค้าข้าวในปี 2568 ไม่สดใสนัก
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ภาวะข้าวไทยปี 2568 ต้องเผชิญกับปัจจัยระยะสั้นโดยไทยต้องบริหารจัดการที่ดีสำหรับข้าวส่วนเพิ่มในปี2568 คาดว่จะมีผลผลิตประมาณ 34 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 22 ล้านตันข้าวสาร จากปกติผลผลิตจะเฉลี่ยที่ 31-32 ล้านตันข้าวสาร
“ดังนั้นเมื่อแบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 11 ล้านตันข้าวสารรวมเมล็ดพันธุ์ ก็จะพบว่าปี 2568 ไทยมีปริมาณข้าวมากกว่าความต้องการในประเทศสูงถึง 11 ล้านตันเป็นผลจากนาปีที่ให้ผลผลิตดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่สภาพอากาศดีให้ให้ปริมาณและคุณภาพดีตามไปด้วย รวมถึงปัจจัยน้ำในเขื่อนปริมาณมากทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำบรรจุเกินกว่า 80% จึงคาดว่าผลผลิตนาปรังจะดีตามไปด้วย”
จากปริมาณผลผลิตของไทยทั้งหมดพบว่าเป็นกลุ่มข้าวหอม(ข้าวพวง) เพียง 2 ล้านตัน ทำให้ไทยยังไม่มีสินค้าใหม่ไปเสนอขายในตลาดนอกจากสินค้าเดิมๆทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวหอมปทุมไม่ค่อยมีการผลิตแล้ว
“ปีหน้า ไทยทำงานหนักขึ้น ปีหน้า ปัจจัยสำคัญสุด คือราคา เพราะเรื่องคุณภาพ ข้าวหอม ข้าวนึ่ง ข้าวขาว คุณภาพไม่ต่างกัน ขึ้นกับไทยต้องดูว่าจะทำราคาอย่างไร และค่าเงินก็มีความสำคัญถ้าบาทอ่อน ก็จะมีขีดความสามารถมากขึ้น ทุก 1 บาท กระทบราคาข้าว 15-16 ดอลลาร์ต่อตัน ขึ้นกับว่าจะอ่อนหรือแข็ง ถ้าบาทแข็งก็ต้องโค้ดราคาขึ้น อีก 15-16ดอลลาร์สำหรับข้าวขาว”
ส่วนราคาในประเทศ ปี2567 ที่กำลังจะผ่านไปได้อานิสงค์จากอินเดียที่งดเว้นการส่งออกข้าวผ่านมาตรการเก็บภาษีส่งออกทำให้ตลาดของอินเดียแบ่งตัวไปที่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และเมียนมา ส่งผลให้ราคาข้าวสารขาวในประเทศสูงสุดแตะ 2.6 หมื่นบาท ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เพราะอินเดียประกาศกลับมาส่งออกอีกครั้ง
ปี 2566 ไทยส่งออกได้ 8.7 ล้านตัน ต่อมาปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ 9 ล้านตัน จากปัจจัยเอลนีโญ และอินเดียห้ามการส่งออกทำและหลายประเทศผลผลิตลดลง ทำให้ตลาดอินโดนีเซียนำเข้าปริมาณมากถึง 4 ล้านตัน 2ปีติดต่อกัน ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากไทย 5 ล้านตัน และที่เหลือจากเวียดนาม ปากีสถานและเม่ียนมา
ปี 2568 อินเดียเปิดการส่งออกแบบเต็มรูปแบบแล้ว แม้จะยังยกเว้นปลายข้าวที่ยังห้ามส่งออกแต่ไม่มีผลอะไรในตลาดโลก ในสถานการณ์ปกติอินเดียจะส่งออกข้าวขาวที่ 5-6 ล้านตัน แต่ช่วงที่ห้ามการส่งออกจะใช้การขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ซึ่งมีปริมาณที่5-6 แสนตัน ดังนั้น เมื่ออินเดียส่งออกเต็มรูปแบบ สิ่งที่มองไปข้างหน้าคือ อินเดียจะนำส่วนแบ่งตลาดกลับคืนเพราะ ข้าวอินเดียราคาถูกว่าไทย เฉลี่ย 440ดอลลาร์ต่อตัน(เอฟโอบี) ส่วนไทย 480ดอลลาร์ต่อตัน หรือมีช่องว่างถึง 40-50 ดอลลาร์ต่อตัน
อินเดีย เป็นเจ้าของตลาด 5 ล้านตัน ซึ่งส่วนนี้ไทยได้มา2 ล้านตัน ดังนั้น ปีหน้า หักไปเลย 2 ล้านตัน ที่ตลาดส่งออกจะหายไป ไม่รวมข้าวนึ่งที่อาจมาแย่งตลาดแอฟริกา จากไทยไปอีก เพราะปี2568 คาดว่าอินเดียจะมีปริมาณผลผลิตสูงถึง 142 ล้านตันข้าวสาร สูงสุดเป็นประวิติการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่อินเดียจะรุกส่งออกหนัก
“สถานการณ์ปีหน้าดูแล้วมีปัจจัยลบมาก สิ่งที่จะช่วยได้คือค่าเงินบาทหากอ่อนค่าและมีเสถียรภาพอาจทำให้การส่งออกสู้กับคู่แข่งได้คาดกว่าการส่งออกปี 2568 น่าจะมากกว่า 7 ล้านตัน "
วันนิวัต กิติเรียงลาภ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าปี 2568 อินเดียจะกลับมาส่งอกข้าวซึ่งข้าวอินเดียจะเป็นกลุ่มเดียวกับขาวขาวโดยครองส่วนแบ่งตลาดที่ 6 ล้านตัน เมื่ออินเดียเริ่มเก็บภาษีส่งออก ทำให้ส่วนแบ่งตลาดอินเดียอยู่ที่ 4 ในล้านตันในปี 2566 จากนั้นช่วง ปี 2567 กำหนดห้ามส่งออกเลย ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 6 แสนตัน ซึ่งตัวเลขส่วนที่ลดลงไปกลายเป็นส่วนแบ่งตลาดของไทย เวียดนาม และปากีสถาน
เมื่อปี 2568ที่จะมาถึง คาดว่าอินเดียจะนำส่วนแบ่งตลาดเหล่านี้คืนไป แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าวขาวเพราะสถิติส่งออกย้อนหลังของอินเดียตั้งแต่ปี 2565 ส่งออก 22.2 ล้านตัน ปี 2566 ส่งออก 17.8 ล้านตัน โดยส่วใหญ่เป็นกลุ่มข้าวขาว
ดังนั้น ปี 2568 คาดการณ์การส่งออกไทยจะมีปริมาณที่ 7 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวขาว 3-3.5 ล้านตัน และกลุ่มข้าวนึ่ง 1.5 ล้านตัน รวมประมาณ 5 ล้านตัน และเมื่อรวมข้าวหอมมะลิอีก 1.3 ล้านตัน ข้าวหอมปทุมอีก 3.6 แสนตัน และข้าวเหนียวอีก 1.4-1.7 แสนตัน แต่ส่วนข้าวเหนียวหากราคาในประเทศแพงจะไม่มีการส่งออก จึงคำนวนการส่งออกรวมอยู่ที่ 7 ล้านตันโดยประมาณ
“หากมีข้าวพื้นนุ่มแทรกบ้างประมาณ 3-4 แสนตัน ก็จะสามารถเข้าไปแทรกในตลาดอย่างฟิลิปปินส์ที่คาดว่านำเข้าเฉลี่ย 3.2 ล้านตัน หรืออินโดนีเซีย 1.0 ล้านตัน และมาเลเซีย 6.2 แสนตัน ซึ่งจะส่งให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยมีปริมาณที่สูงขึ้นได้”
ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปี 2568 เป็นห่วงว่าหากผลผลิตสูงมากก็จะกระทบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศส่วนการส่งออกปัจจัยอินเดียจะกระทบกลุ่มข้าวเจ้ามากกว่า ส่วนข้าวหอมมะลิที่คาดว่าจะมีปริมาณ 1.4 ล้านตันนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบ
"ปี2568 จะกระทบมากคือข้าวขาวซึ่งส่งออกมากกว่าปกติที่6 ล้านตันเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแสดงว่าจะกระทบกับข้าวขาวที่เราส่งออก ทำให้ราคาในประเทศจะไม่ดีเท่า2 ปีที่ผ่านมา ส่วนข้าวหอมมะลิ จะอยู่ไม่เกิน 1.4-1.5 ล้านตัน แต่ถ้าผลผลิตมากจะกระทบราคาข้าวเปลือกในประเทศมากกว่าแต่ไม่กระทบในแง่ปริมาณส่งออก"
สมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในส่วนข้าวถุงแม้ช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกและข้าวสารจะปรับตัวสูงขึ้นมากแต่ข้าวถุงไม่มีการปรับราคาเพราะแข่งขันสูง อย่างไรก็ตามราคาข้าวที่สูงในช่วงที่ผ่านมาเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กลุ่ม“ข้าวหอม”คือกกลุ่มข้าวผสมระหว่างข้าวขาวกับข้าวหอมมะลิ ซึ่งสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังพอใจเพราะเป็นกลุ่มข้าวนุ่มที่มีคุณภาพ แต่ราคาไม่สูงเท่าข้าวหอมมะลิ
“สำหรับปี 2568 มองว่า ราคายังเป็นปัจจัยสำคัญเพราะกำลังซื้อผู้บริโภคยังทรงตัว ทำให้ตลาดข้าวหอมยังสามารถเติบโตได้ต่อไป ส่วนข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ การแข่งขันยังสูงดังนั้นการปรับราคาจึงไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจข้าวถึงตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปีหน้า”