“ศุภวุฒิ”เชื่อไทยไม่พ้นบ่วงเป็นเป้าถูกเก็บภาษีจากนโยบายทรัมป์

“ศุภวุฒิ”เชื่อไทยไม่พ้นบ่วงเป็นเป้าถูกเก็บภาษีจากนโยบายทรัมป์

ปธ.สศช. ชี้ “ทรัมป์”คัมแบ็ค สะเทือนไทย ตกเป็นเป้าเก็บภาษีนำเข้าหลังเกินดุลการค้าสหรัฐ คาดขึ้นภาษีก่อนเรียกเจรจารายประเทศ ชูจุดแข็งด้านซอฟต์พาวน์เวอร์สร้างความมั่นคงประเทศ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษ "การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย" ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42  ว่า  การสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย จะต้องแก้ปัญหาที่คั่งค้างก่อน และรับมือกับความเสี่ยงใหม่ คือ การรับมือกับความท้าทายของโลก จากนโยบายผู้นำประเทศใหม่ โดยปัญหาคั่งค้างของไทยคือปัญหาหนี้สิน ประชาชนที่แก่ตัวลงทำให้ GDP ขยายตัวต่ำและแรงงานขาดแคลน คุณภาพการศึกษาของไทยถดถอยลง ภาคเกษตรยังขาดประสิทธิภาพโดยใช้แรงงาน 30% ภาคเกษตรใช้พื้นที่ 40% แต่สัดส่วนต่อ GDP ต่ำ มีการนำเข้าแก๊สธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ยังมีราคาสูง รัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูง การใช้งบประมาณทางการคลังทำได้ค่อนข้างต่ำ

ปัญหาใหม่ที่ประเทศไทยต้องประสบจาก 2 มหาอำนาจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในส่วนของประเทศจีน กำลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยการเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศเป็นเรื่องรอง โดยมุ่งเน้นส่วนแบ่งตลาดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของทุกประเทศ ส่งผลให้กดดันกำลังการผลิตและการส่งออกสินค้าของประเทศไทยด้วย

นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบีดีสหรัฐ มีนโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยจะอยู่ในประเทศที่เกินดุลของสหรัฐฯ ถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ของประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 10% ของ GDP ซึ่งนายโดนัล ทรัมป์ มองว่าจากการที่ประเทศต่าง ๆ เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นการที่สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบ ถูกโกงจากประเทศต่าง ๆ จึงจะมีนโยบายการปรับภาษีนำเข้าจากประเทศเกินดุล 10-20% และจะเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศจีนสูงถึง 60% รองลงมา คือสหภาพยุโรปเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทย เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 12 และขึ้นบัญชีประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 10-20% และจะมีการเจรจากับประเทศต่าง ๆ เป็นกรณีไป นอกจากนี้ ประเทศไทย เก็บภาษีศุลกากรนำเข้าเฉลี่ยจากสหรัฐฯ ประมาณ 9.7% โดยจะถูกจับตามองเป็นพิเศษโดยเฉพาะสินค้าเกษตรของประเทศไทยที่เก็บภาษีผักผลไม้นำเข้าจากสหรัฐฯ สูงเป็นพิเศษ 20-30% อีกทั้ง ประเทศไทยได้มีการห้ามนำเข้าเนื้อหมู เนื้อวัว โดยอ้างถึงสารเนื้อแดง ทำให้สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นเป้า จากนโยบายการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อีกทั้ง ความเสี่ยงที่จะการเกิดสงครามการค้าโดยรวมของทั่วโลกจะทำให้การค้าหดตัวลง โดยหากเกิดขึ้น จะกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกถึง 50% ของ GDP ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐฯ คือ ผลกระทบด้านความมั่นคงและด้านดอกเบี้ยกับประเทศไทย ในส่วนด้านความมั่นคงนั้น สหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศพันธมิตรจ่ายเงินสนับสนุนการป้องกันประเทศของตนเองเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระทางทหารของสหรัฐฯ ตลอดจนนโยบายการเพิ่มภาษี

นโยบายการเนรเทศคนต่างด้าว 11 ล้านคน ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เงินเฟ้อลดลงช้า ดอกเบี้ยสูงขึ้น และนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลและการลดภาษีคนรวยจะส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณและดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ปัญหาที่คั่งค้างของประเทศไทย ทั้งปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้สาธารณะในระดับสูง และข้อจำกัดของนโยบายการคลัง โดยแนวทางในการจะแก้ไขของประเทศไทย คือ ต้องทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้อย่างเร็ว ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องพยายามป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ  และปัจจัยในประเทศ คือ ความพยายามในการจะเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกาย  ที่แข็งแรงและสามารถทำงานได้นานขึ้น หรือเสียชีวิตเร็วเพื่อลดภาระในการดูแล เป็นต้น

ทั้งนี้ประเทศไทยมีจุดแข็ง ได้แก่ ความคุ้นเคย ชื่อเสียง ธุรกิจและการค้า มรดกทางวัฒนธรรม ผู้คนและค่านิยมของคนไทย ในส่วนจุดอ่อน ได้แก่ การศึกษาและธรรมาภิบาล เป็นต้น พร้อมทั้งอาหารก็ถือเป็นจุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของประเทศไทย ที่จะต้องพยายามสร้างประสบการณ์และเน้นการให้บริการที่มีมูลค่าสูง

สำหรับภาคบริการทุกประเทศในโลกผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักจะปรับเปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาภาคบริการที่มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากมูลค่าภาคบริการ เช่น สหรัฐฯ คิดเป็น 70% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทย คิดเป็น 58.5% ของ GDP และจีน คิดเป็น 54.6% ของ GDP เป็นต้น

โดยภาคอุตสาหกรรม จะต้องหันมาพัฒนาในกลุ่มเฉพาะทางและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเครื่องมือแพทย์ อาหารเชิงสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผ้าไหม แฟชั่นเมืองร้อน ซึ่งต้องพัฒนาคุณภาพให้ตรงความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น

 “ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาจุดแข็งด้านซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน”นายศุภวุฒิ กล่าว