ทางออกสุดท้าย 'เขากระโดง' รฟท. ทำสัญญาเช่าที่ดินรายแปลง
การรถไฟฯ เผยทางออกของปม “เขากระโดง” หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิทับซ้อน เล็งดึงประชาชนทำสัญญาเช่าให้ถูกกฎหมาย ชี้มีข้อกำหนดเปิดกว้างทั้งสัญญาเพื่ออยู่อาศัย - ทำการเกษตร – เพื่อการพาณิชย์
KEY
POINTS
- การรถไฟฯ เผยทางออกของปม “เขากระโดง” หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิทับซ้อน เล็งดึงประชาชนทำสัญญาเช่าให้ถูกกฎหมาย
- ระบุประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าวในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
- เผยที่ผ่านมา รฟท.มีแนวทางการดำเนินการกับผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินรวม 2 รูปแบบ ประกอบด้วย ที่ดินที่พิสูจน์ได้แล้วเข้ามาครอบครองและบุกรุกโดยไม่ชอบและผู้ที่บุกรุกไม่มีเอกสารสิทธิ์มีอยู่ 18,822 ราย และที่ดินที่มีข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์
คำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561 จะเป็นทางสำคัญในการแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดงของกระทรวงคมนาคม ซึ่งแนวทางการพิพากษาของคดีดังกล่าวจะเป็นแนวทางของคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิที่ดินเขากระโดง
สำหรับคดีที่ 8027/2561 พิพากษาว่า “ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์” ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข.) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 24 ไร่ 4 ตารางวา ที่ซื้อต่อจากนายชัย ชิดชอบ เพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
รวมทั้งมีประเด็นสำคัญที่ศาลสั่งให้นายศุภวัฒน์ ชำระค่าเสียหายกรณีเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของ รฟท. โดยได้มีการคำนวณจากอัตราค่าเช่าตามระเบียบ รฟท.ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟท.เป็นเงินเดือนละ 36,720 บาท ซึ่งทำให้นายศุภวัฒน์ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้ รฟท.ครบ 4.87 ล้านบาท เมื่อเดือน ธ.ค.2566
สำหรับการชำระเงินดังกล่าวปรากฏเป็นหลักฐานบัญชีรายการรับ-จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 20 ธ.ค.2566 โดยนายศุภวัฒน์ คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของและหุ้นส่วนผู้จัดการใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
นายศุภวัฒน์เข้าซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สัดส่วน 99% ของทุนจดทะเบียน หรือ 119.5 ล้านบาท พร้อมโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ ก่อนที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วันที่ 10 ก.ค.2562
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 นายชัย ชิดชอบ ทำบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง โดยสรุปว่านายชัยยอมรับที่ดินพิพาทเป็นของ รฟท.และนายชัย จะขออาศัยอยู่ ซึ่ง รฟท.ตกลงยินยอมให้อาศัย และได้ทำสัญญาการอาศัย
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากหลักฐานดังกล่าวทำให้กระทรวงคมนาคม มองทางออกของปัญหาในปัจจุบันที่มีคำสั่งของศาลเป็นที่สิ้นสุดให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินบางแปลงบริเวณเขากระโดง ในขณะที่กรมที่ดินมีข้อพิจารณาที่อาจนำไปสู่การใช้แนวทางที่ รฟท.ต้องฟ้องร้องให้มีการเพิกถอนโฉนดที่เป็นรายแปลง และอาจต้องมีการชำระค่าเช่าตามแนวทางเดียวกับคดีของนายศุภวัฒน์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีของการยุติข้อพิพาทการออกโฉนดทับซ้อนบริเวณพื้นที่เขากระโดงนั้น ท้ายที่สุดจะมีความเป็นไปได้ถึงการเจรจากับผู้ถือโฉนดทับซ้อน เพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ หรือไม่นั้น
“ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องในอนาคต การทำสัญญาเช่าเป็นรายบุคคลเป็นเรื่องที่ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังไม่ได้พิจารณา เพราะปัจจุบันต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสินของกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ดำเนินการก่อน” นายสุริยะ กล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการรถไฟฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดงของอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ซึ่งตามกระบวนการจะต้องรอให้มีการดำเนินการภายใน 60 วัน โดยระหว่างนี้การรถไฟฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานอาณาบาลของการรถไฟฯ เพื่อเตรียมดำเนินการทางกฎหมายในขั้นตอนต่อไป
ซึ่งเบื้องต้นหากไม่มีการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิดังกล่าว การรถไฟฯ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางศาลปกครองต่อไป
ส่วนกรณีจะฟ้องดำเนินคดีตาม ม.157 กับอธิบดีกรมที่ดิน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา เช่นเดียวกันการศึกษาข้อมูลการครอบครองเอกสารสิทธิของรายบุคคล หากกรณีที่จำเป็นต้องฟ้องเป็นรายบุคคล
อย่างไรก็ดี ทางออกของปัญหานี้ หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว การรถไฟฯ ได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้เบื้องต้นแล้ว
โดยให้ประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าวในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับที่ดินบริเวณเขากระโดงที่มีปัญหามีพื้นที่รวม 5,083 ไร่ โดยได้มีการจำแนกลักษณะเอกสารการใช้ที่ดิน 995 ฉบับ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.โฉนดที่ดิน 700 ราย 2.ที่ดินมีการครอบครอง (ทค.) 19 ราย 3.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก.) 7 ราย 4.หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) 1 ราย 5.ทางสาธารณประโยชน์ 53 แปลง 6.ไม่ปรากฎในระงางแผนที่ 129 แปลง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รฟท.มีแนวทางการดำเนินการกับผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของ รฟท.ในภาพรวม 2 รูปแบบ ได้แก่
1.ที่ดินที่พิสูจน์ได้แล้วเข้ามาครอบครองและบุกรุกโดยไม่ชอบและผู้ที่บุกรุกไม่มีเอกสารสิทธิ์มีอยู่ 18,822 ราย ซึ่งแนวทางการดำเนินงานคือใช้การดำเนินการแบบคดีแพ่งที่สามารถเจรจากันได้ คือมีคณะทำงานเข้าไปพูดคุยบางครั้งเป็นการพูดคุยกับประธานชุมชนหรือเครือข่ายชุมชนต่างๆเพื่อขอให้ผู้บุกรุกมาเป็นผู้เช่าที่ของ รฟท.
รวมทั้งมีการทำสัญญาเช่าที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้ รฟท.และมีการจัดตั้งหน่วยงานภายในเข้ามาดูแลทรััพย์สินซึ่งมีหน้าที่โดยตรง
2.ที่ดินที่มีข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ บนพื้นที่ที่มีการสันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของ รฟท.โดยพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือพื้นที่บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีการออนโฉนดไป 900 ราย นอกจากนั้นเป็นพื้นที่อื่นๆที่มีการออกโฉนดบนพื้นที่ลักษณะนี้่มากกว่า 200 ราย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รฟท.ได้ดำเนินยื่นฟ้องหลายคคีจากข้อขัดแย้งที่ดินเขากระโดง โดยยื่นเรื่องให้ศาลปกครองกลาง เป็นผู้ชี้ขาดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดินของ รฟท.ทั้ง 5,083 ไร่ที่เขากระโดง ซึ่งที่ดินนี่ รฟท.ได้รับมาตามพระราชโองการและมีหลักฐานยืนยันได้ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์
สำหรับคู่กรณี คือ รฟท.ในฐานะเจ้าของที่ดิน และกรมที่ดินที่เป็นหน่วยงานที่ออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่ง รฟท.เคยได้ยื่นร้องค่าเสียหายเป็นวงเงินประมาณ 700 ล้านบาทกับกรมที่ดินด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่าและการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ ในการบริหารทรัพย์สิน จำนวน 12,233 สัญญา ประกอบด้วย
1.สัญญาฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,856 สัญญา 2.สัญญาฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ จำนวน 6,369 สัญญา และ 3.สัญญาฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 8 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่
ทั้งนี้หลังจากนั้น เอสอาร์ที แอสเสท ได้นำร่องเข้าทำสัญญาเช่ากับประชาชนที่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 150 สัญญา เพื่อทำสัญญาเช่าสำหรับเป็นที่พักอาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันยังพบว่าพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว มีประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินรถไฟทั้งหมดประมาณ 3,500 ครอบครัว ซึ่งจะมีการทยอยทำสัญญาเช่าให้ถูกกฎหมายทั้งหมด
ขณะที่ปัจจุบันที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็น
1.พื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่
2.พื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 33,761 ไร่
รวมทั้งยังมีพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือเส้นทางการเดินรถไฟทั่วประเทศทั้งหมด 38,469 ไร่ ซึ่งส่วนนี้พบว่ามีประชาชนอยู่อาศัยจำนวนมาก
สำหรับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หลังจากนี้จะเข้ามามีบทบาทในการบริหารทรัพย์สินที่ดินของการรถไฟฯ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ บริการรับจ้างบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ
รวมทั้งจัดสรรพื้นที่และเจรจากับบุคคลที่สาม หรือร่วมทุนกับเอกชน เพื่อรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการ ตลอดจนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯ หรือซื้อที่ดินจากองค์กรอื่นมาพัฒนาและบริหารจัดการ ทั้งนี้ บริษัทต้องแบ่งผลตอบแทนให้กับการรถไฟฯ ในฐานะผู้บริหารสัญญา ร้อยละ 5 ของรายได้จากค่าบริหารสัญญา