เปิดแหล่งเงินดัน 'รถไฟฟ้า 20 บาท' รัฐเตรียมควักจ่าย 'เอกชน' ก.ย.68

เปิดแหล่งเงินดัน 'รถไฟฟ้า 20 บาท' รัฐเตรียมควักจ่าย 'เอกชน' ก.ย.68

เปิดแหล่งเงินดันนโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาท" ขีดเส้น ก.ย.นี้ ทุกสีทุกสายจัดเก็บค่าโดยสารราคาเดียวกัน "คมนาคม" ดันก้าวแรก พรบ.ตั๋วร่วม หวังจัดตั้งกองทุน ดึงเงินหลายส่วนชดเชยค่าโดยสาร ก่อนผลักดัน Infrastructure fund 2 แสนล้าน ซื้อคืนรถไฟฟ้าคุมราคาค่าโดยสารระยะยาว

KEY

POINTS

  • "คมนาคม" ดันก้าวแรกรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ก.ย.2568 เตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียว พรบ.ตั๋วร่วม หวังจัดตั้งกองทุนหาแหล่งเงินชดเชยรายได้เอกชน 
  • ประเมิน 2 ปี ครบวาระรัฐบาล ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8 พันล้านบาท หรือรวมประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท 
  • เร่งเดินหน้าตั้งกองทุน Infrastructure fund ขนาดประมาณ 2 แสนล้านบาท หวังซื้อคืนรถไฟฟ้าคุมราคาค่าโดยสารระยะยาว เปิดแหล่งเงินสำคัญ "จัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด" 

การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอวาระขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)

ทั้งนี้มาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567 โดยการเสนอขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว จะครอบคลุมเป็นเวลา 1 ปี มีผลทันทีถึงวันที่ 30 พ.ย.2568

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทในเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568 ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม ในการจัดหา “แหล่งเงิน” มาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา

โดยสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม อย่างไรก็ดีกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก่อนผลักดันตามขั้นตอน และมีผลบังคับใช้ให้รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายปรับราคาเดียวกันเป็นค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568

อย่างไรก็ดี ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... มีการกำหนดถึงแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ ไว้ใน มาตรา 30 โดยกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต

4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน

5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน

6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40

7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน

8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม 2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเกิดส่วนต่างที่รัฐบาลต้องชดเชยเอกชน ซึ่งจากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายตั้งแต่เดือนก.ย.2568 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8 พันล้านบาท หรือรวมประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะมาชดเชยรายได้เอกชนจากส่วนต่างนี้ โดยได้สอบถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อนำเงินกำไรสะสมของ รฟม. จากส่วนแบ่งรายได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปัจจุบันสะสมราว 1.5 – 1.6 หมื่นล้านบาท นำมาเป็นเงินก้อนแรกสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วม ดังนั้นมั่นใจว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นตามเป้าหมาย

ขณะที่การผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดขึ้นระยะยาว ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ขนาดประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาซื้อคืนรถไฟฟ้าจากการบริหารของเอกชน

โดยแหล่งเงินที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุน Infrastructure fund กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศนิยมใช้

รวมไปถึงจะเปิดกว้างระดมทุนจากประชาชน คล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFF) ซึ่งเมื่อมีกองทุน Infrastructure fund และสามารถนำเงินไปซื้อคืนรถไฟฟ้าได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินชดเชยส่วนต่างเอกชน และจะส่งผลให้รถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐ สามารถกำหนดค่าโดยสารในราคาที่ถูกลงได้