สนค. จับตา นโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบต่อภาคเกษตรและอาหารโลก

สนค. จับตา นโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบต่อภาคเกษตรและอาหารโลก

สนค.แนะไทยรับมือนโยบายทรัมป์ 2.0  จับตา นโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของทรัมป์ กระทบการนำเข้าสินค้าด้านการเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้า แนะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาและติดตามนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยมีกำหนดสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อมาตรการทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าโลกและไทย รัฐบาลทรัมป์ยังยึดแนวนโยบายหลัก “Make America Great Again” โดยให้ความสำคัญและถือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ

สำหรับผลกระทบต่อภาคเกษตรและอาหารโลก สนค. ได้ศึกษารายงาน “Trump 2.0: Impacts on Global Food and Agriculture” ของ Rabobank สถาบันการเงินของเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร ระบุว่า การดำรงตำแหน่งรอบที่ 2 ของประธานาธิบดีทรัมป์ จะสร้างความซับซ้อนให้กับการค้าสินค้าเกษตรและอาหารในระดับโลก และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้า (Trade Relationships) การเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ของการส่งออก (Export Demand) ต้นทุนของธุรกิจและผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น

โดยการกลับมาของทรัมป์เป็นการส่งสัญญาณถึงการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร (Tariff) สำหรับสินค้านำเข้า การยกเลิกกฎระเบียบ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่เคยกล่าวไว้ตอนหาเสียง โดยอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ ที่ช้าลง และการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น

สนค. จับตา นโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบต่อภาคเกษตรและอาหารโลก

ผู้บริโภคและบริษัทผลิตอาหารในสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันให้ผู้บริโภคพิจารณาถึงคุณค่าของสินค้ามากขึ้น มุ่งเน้นที่ความสะดวกสบาย เลือกบริโภคสินค้าที่เป็นแบรนด์ร้านค้าปลีก (Private Label) สินค้าหรูหราในราคาไม่แพง (Affordable Luxuries) และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นครั้งคราว

สำหรับความต้องการบริการด้านอาหาร (Food Service) คาดว่าจะฟื้นตัวช่วงกลางปี 2568 เนื่องจากสถานะการเงินผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะยังคงเลือกซื้อสินค้าโดยเน้นที่คุณค่าของสินค้าต่อไป

ขณะที่บริษัทผลิตอาหารในสหรัฐฯ ที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีกำไรลดลง บริษัทอาจต้องปรับส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ (Product Mix)  ลดการนำเข้า เน้นใช้วัตถุดิบจากในสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะบริษัทเล็กอาจปิดกิจการหรือควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดใหญ่

สถานการณ์ดังกล่าวจะผลักดันให้บริษัทแสวงหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ อาทิ ปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

“การที่รัฐบาลทรัมป์จะเก็บภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในอัตรา 10-20% และสินค้าจากจีนที่สูงถึง 60% อาจส่งผลให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบออกมาตรการตอบโต้ โดยสินค้าประมงและแปรรูปของสหรัฐฯ มักเป็นเป้าหมายหลักในการเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งเมื่อรวมกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะส่งผลเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าประมงและประมงแปรรูปของสหรัฐฯ “นายพูนพงษ์ กล่าว

สนค. จับตา นโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบต่อภาคเกษตรและอาหารโลก

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ห่วงโซ่อุปทานปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากจีนมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเคมีเกษตร (Agrochemical Industry) ระดับโลก โดยการผลิตทั่วโลกกว่า 70% มีซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงกับจีน (มีสัดส่วน 10% ของการส่งออกยูเรียทั่วโลก และสัดส่วน 15-25% ของการส่งออกฟอสเฟตทั่วโลก) ราคาเคมีเกษตรในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบต่อราคาปุ๋ยของสหรัฐฯ อาจอยู่ในระดับปานกลางหรือเป็นบวก เนื่องจากสหรัฐฯ มีการผลิตปุ๋ยในประเทศเพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่าสงครามการค้าส่งผลกระทบเชิงลบต่อการค้า แต่สินค้าเกษตรหลายชนิดถือเป็นสินค้าจำเป็น ประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร โดยจะเลือกนำเข้าตามความต้องการจากประเทศที่ให้ราคาดีที่สุด เช่น หากบราซิลมีผลผลิตถั่วเหลืองลดลงจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลให้การส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แม้ถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐฯ อาจมีภาษีนำเข้าที่สูงกว่าเนื่องจากมาตรการตอบโต้ของคู่ค้าก็ตาม ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการส่งออกไปยังกว่า 190 ประเทศทั่วโลก

สำหรับการตอบโต้จากจีน หากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้านำเข้า จีนมีแนวโน้มที่จะตอบโต้โดยมุ่งที่สินค้ากลุ่มธัญพืชและพืชน้ำมัน โดยเฉพาะถั่วเหลือง (การส่งออกถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ไปจีน มีสัดส่วนถึง 51.2% ของมูลค่าการส่งออกถั่วเหลืองทั้งหมดของสหรัฐฯ) โดยในครั้งนี้ ผลกระทบต่อจีนจะไม่รุนแรงเท่าสงครามการค้ารอบที่แล้ว เนื่องจากจีนมีปริมาณสต็อกสำรองในประเทศเพิ่มขึ้น และผู้นำเข้าจีนอาจนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ล่วงหน้า ก่อนจะมีการขึ้นภาษี หรือเปลี่ยนไปนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลทดแทนหากสงครามการค้าปะทุขึ้น

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia: SEA) หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า 20% จะทำให้สินค้าที่นำเข้าจาก SEA มีต้นทุนสูงขึ้น โดยมีสินค้าเกษตรสำคัญที่สหรัฐฯ นำเข้าจากภูมิภาคนี้ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กาแฟ ยางพารา ข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายังสหรัฐฯ จะค่อนข้างคงที่ เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ในประเทศ และมีทางเลือกที่จำกัด

สงครามการค้า Trump 2.0 ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของทรัมป์ แต่ไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยมีจีนและสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 และ 2 ต้องติดตามสถานการณ์การค้า นโยบายที่สำคัญ รวมทั้งแนวโน้มการใช้มาตรการและการตอบโต้ของทั้งสหรัฐฯ จีน และประเทศต่าง ๆ ในอนาคตอย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาโอกาสและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป”นายพูนพงษ์ กล่าว