ส่องฝูงบิน 150 ลำ ‘การบินไทย’ หวังผงาดครองมาร์เกตแชร์ภูมิภาค 35%

ส่องฝูงบิน 150 ลำ ‘การบินไทย’ หวังผงาดครองมาร์เกตแชร์ภูมิภาค 35%

“การบินไทย” กางแผนขยายฝูงบิน 150 ลำในปี 2576 พร้อมปรับฝูงบินลดเหลือ 4 แบบ หวังลดต้นทุนซ่อมและอะไหล่เครื่องบิน ควบคู่เดินหน้ากลยุทธ์การตลาดบริการแบบเครือข่าย หวังกลับมาครองมาร์เกตแชร์ 35%

KEY

POINTS

  • IATA คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตสูงสุด
  • “การบินไทย” กางแผนขยายฝูงบิน 150 ลำในปี 2576 พร้อมปรับฝูงบินลดเหลือ 4 แบบ หวังลดต้นทุนซ่อมและอะไหล่เครื่องบิน
  • ควบคู่เดินหน้ากลยุทธ์การตลาดมุ่งมั่นเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) สร้างเป็นจุดแข็งในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินในภูมิภาค หวังกลับมาครองมาร์เกตแชร์ 35%

สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินโลก IATA ประมาณการณ์รายได้รวมของสายการบินในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 119% ของรายได้รวมก่อนโควิด-19 โดยจะมีรายได้สูงถึง 996,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร และการรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน IATA ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีอัตราการเติบโตสูงสุดคิดเป็น 2 ใน 3 โดยประเมินว่าในช่วงปีดังกล่าวจะมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศสูงถึง 8,600 ล้านคน และสัดส่วน 46% เดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

จากแนวโน้มการขยายตัวของปริมาณการเดินทางดังกล่าว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วางแผนช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่ครองฐานการบินในประเทศไทย ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นยอดฮิตของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยมุ่งมั่นจะเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) เพื่อสร้างเป็นจุดแข็งในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินในภูมิภาค โดยการยยายเครือข่ายเส้นทางบินระยะสั้นจะช่วยสร้างความได้เปรียบของบริษัท และเพิ่มความถี่และเวลาของเที่ยวบิน เพื่อเชื่อมต่อจุดบินเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับฐานการบินสำคัญอย่างกรุงเทพฯ

โดยภายใต้แผนขยายบริการแบบเครือข่ายนั้น การบินไทยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนฝูงบินรองรับ พร้อมทั้งปรับปรุงฝูงบินครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านการบินอย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งปัจจุบันวางเป้าหมาย “ลดแบบเครื่องบินเหลือ 4 แบบ” จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การบินไทยมีฝูงบิน 8 แบบรวม103 ลำ ส่งผลให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมและอะไหล่ที่หลากหลาย โดยขณะนี้ได้ทำการปรับลดฝูงบินเหลือ 6 แบบรวม 79 ลำ และจะทยอยปรับลดต่อเนื่องในปี 2572 คาดเหลือ 5 แบบรวม 143 ลำ และท้ายที่สุดในปี 2576 จะเหลือ 4 แบบรวม 150 ลำ

สำหรับปลายทางของการปรับปรุงฝูงบิน “การบินไทย” ในปี 2576 จะมีฝูงบินรวม 150 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินลำตัวกว้าง 98 ลำ และลำตัวแคบ 52 ลำ โดยมีประเภทเครื่องบิน ประกอบด้วย

  • โบอิ้ง B777-300ER จำนวน 15 ลำ
  • แอร์บัส A350 จำนวน 17 ลำ
  • โบอิ้งตระกูล B787 จำนวน 66 ลำ
  • แอร์บัส A320/A321 NEO จำนวน 52 ลำ

ทั้งนี้ การผลักดันแผนปรับปรุงฝูงบินดังกล่าว ปัจจุบันการบินไทยได้เจรจาและเข้าทำข้อตกลงกับ Boeing และ GE Aerospace เพื่อจัดหาเครืองบินลำใหม่จำนวน 45 ลำ พร้อมกับสิทธิในการจัดหาเพิ่มอีก 35 ลำ นอกจากนี้การจัดหาเครื่องบินลำตัวแคบ ปัจจุบันได้ทำการเจรจาและเข้าทำข้อตกลงกับ Lessor เพื่อจัดหาเครื่องบินลำใหม่รุ่นแอร์บัสA321 จำนวน 32 ลำ ซึ่งคาดว่าฝูงบินใหม่นี้จะทยอยรับมอบเข้ามาในปี 2570 - 2576

สูตรสำเร็จของการบินจากการวางแผนธุรกิจและปรับปรุงฝูงบินครั้งนี้ มีเป้าหมายจะครองมาร์เกตแชร์สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมาในระดับ 35% ภายในปี 2572 เป็นต้นไป เพิ่มขึ้นหลังการปรับลดเครื่องบินและปรับปรุงฝูงบินในปี 2566 ที่การบินไทยมีจำนวนฝูงบิน 70 ลำ ครองมาร์เกตแชร์ 28% และจะเป็นผลบวกระยะยาวที่ทำให้การบินไทยสามารถบริหารต้นทุนทางการบิน ค่าซ่อมและอะไหล่เครื่องบินที่ลดลง