ครม.เคาะสร้างทางด่วนบางขุนเทียน-บางบัวทอง PPP ลงทุนร่วมเอกชน 4.7 หมื่นล้าน

ครม.เคาะสร้างทางด่วนบางขุนเทียน-บางบัวทอง PPP ลงทุนร่วมเอกชน 4.7 หมื่นล้าน

นายกฯ เคาะแก้ปัญหาจราจร รอบนอกให้คนกรุงเทพ ที่ประชุมครม.อนุมัติสร้างมอเตอร์เวย์ยกระดับทางด่วน m9 บางขุนเทียน บางบัวทอง เปิด PPP ร่วมเอกชน 4.7 หมื่นล้าน คาดลงเข็มปีหน้า เสร็จปี 71 ระบุเป็นทางด่วนที่มีความปลอดภัยใช้ความเร็วได้ลดปัญหารจราจรวงแหวนรอบนอกได้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ของกรมทางหลวงกระทรวงคมนาคม (โครงการ M9) ตามหลักการที่ คกก.นโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คกก.PPP) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก และเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบ กทม.

โดยมีเส้นทางรวมระยะทางประมาณ 35.85 กม. จุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน จุดสิ้นสุดบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง โดยมีการเวนคืนที่ดินในพื้นที่โครงการ มีทั้งหมด 3 ตำแหน่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ 2 งาน 75 ตร.ว.

โดยมีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีทางขึ้น 8 จุดและทางลง 6 จุด ทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง

ลักษณะโครงการนี้มีความพิเศษ ที่มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ รองรับการสัญจรที่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางโดยคิดตามระยะทางด้วยระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ระบบ M-Flow)

นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่ารูปแบบการลงทุน จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPPNET Cost (รูปแบบสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยเอกชนจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายการลงทุน แต่จะได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้ และต้องรับความเสี่ยงในเรื่องของรายได้ ส่วนรัฐอาจได้รับผลตอบแทนบางส่วนตามที่ตกลงกัน)

โดยมีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุนในกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,253.30 ล้านบาท (ขอรับจัดสรรงบฯ ปี 68 ) - กรอบวงเงินร่วมลงทุนที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน 47,521.04 ล้านบาท (ทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาการแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 15 ปี)

สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ เอกชนจะเป็นผู้รับสัมปทานเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตามอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางที่กำหนด โดยให้มีการปรับขึ้นทุก 5 ปี โดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง

  • รถยนต์ 4 ล้อ 10 บาท + 1.50 บาท/กม.
  • รถยนต์ 6 ล้อ 15 บาท + 2.40บาท/กม.
  • รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 25 บาท + 3.45 บาท/กม.

สำหรับระยะเวลาโครงการ รวมทั้งสิ้น 34 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

(1) ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี (สามารถเปิดให้บริการบางส่วนก่อนได้)

(2) ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี (เริ่มนับตั้งแต่เอกชนเปิดให้บริการได้ครบทั้งสาย)