การท่าเรือฯ ตั้งเป้าดัน Green & Smart Port เกิดภายใน 10 ปี
การท่าเรือฯ ปักหมุดดัน Green & Smart Port เกิดภายใน 10 ปี เร่งดึงเทคโนโลยีต่อยอดบริการ พร้อมจับมือผู้ประกอบการสายการเดินเรือ ปรับใช้นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายในงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" จัดขึ้นโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ในช่วง Special Talk : The Green Port: Efficiency of the Future โดยระบุว่า กทท.วันนี้มีแผนในแง่พัฒนาความยั่งยืน การเป็นท่าเรือสีเขียว เนื่องจากท่าเรือถือเป็นส่วนสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
อย่างไรก็ดี กทท.มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทุกท่าเรือของไทยสู่การเป็น “ท่าเรือชั้นนำของโลก” มุ่งมั่นให้บริการโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ ซึ่งภารกิจของ กทท. สอดคล้องกับวิสัยทัศน์เป็นท่าเรือของโลก โดยจะประสานและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมทั้งระบบถนน ระบบราง และขนส่งทางเรือ
ขณะที่ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่และมีบทบาทต่อการขนส่งสินค้าทางเรือของไทย ปีนี้ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 17 ท่าเรือที่มีตู้สินค้ามากที่สุด ซึ่งเป็นการจัดอันดับที่สูงสุดครั้งแรก และ กทท.มีเป้าหมายที่จะพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้สูงสุดถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี จากการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการนำเอานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์มาให้บริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งแบบครบวงจรด้วยการเชื่อมต่อระบบถนน ระบบราง และเรือ
สำหรับนโยบายสู่การพัฒนาท่าเรือ กทท.ยังมุ่งเดินหน้า 3 ส่วน คือ การพัฒนาท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยระบบการขนส่งเป็นยานพาหนะไฟฟ้า และการพัฒนาท่าเรือบางแห่งให้เป็นเขตปลอดการปล่อยคาร์บอน โดยมั่นใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเห็นภาพภายในปี 2581 ซึ่งปัจจุบัน กทท.ได้ริเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน นำอุปกรณ์รถยก รถหัวลากต่างๆ เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดในเขตท่าเรือ และยังมีโครงการติดตั้งแผงโซลาร์ภายในท่าเรือด้วย
อีกทั้งส่วนสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายท่าเรือสีเขียวเกิดขึ้นโดยเร็ว กทท.เชื่อว่าการผนึกร่วมกันของทุกฝ่ายงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนสมาร์ทพอร์ต กรีนพอร์ต และมีระบบตัวชี้วัดที่เหมาะสม และหัวใจที่ กทท.กำลังพยายามส่งเสริม คือ การสร้างความเข้าใจในองค์กร มุ่งสู่ท่าเรือชั้นนำของโลก ซึ่งการก้าวมาเป็นท่าเรืออันดับที่ 17 ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องการมุ่งสู่ Net Zero เพื่อนำพาองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
“การจะทำคนเดียวอาจไม่ทันเวลา การร่วมมือกับทุกหน่วยงานเป็นสิ่งที่จะทำให้เป้าหมาย NetZero เดินหน้าได้ ซึ่งวันนี้การท่าเรือเริ่มต้นจากความร่วมมือทุกองค์กร เราผลักดันผู้ประกอบการเพื่อใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการ ลดคาร์บอนและสร้าง Green Port“
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ท่าเรือแหลมฉบังนับเป็นท่าเรือใหญ่ในไทย ปัจจุบันมี 12 ผู้ประกอบการใช้บริการอยู่ ทั้งท่าเรือขนส่งสินค้า ท่าเรือขนส่งรถยนต์ และท่าเรือท่องเที่ยว โดย กทท.มีนโยบายและแผนงานผลักดันท่าเรือแหลมฉบังสู่การเป็น Green & Smart Port ภายใน 10 ปี เพื่อมุ่งสู่การเป็น World class port ส่วนท่าเรือกรุงเทพ จะมุ่งสู่เป้าหมาย City Port เป็นท่าเรือสมัยใหม่ลดคาร์บอน มีโปรดักซ์บริการด้านการขนส่งสินค้าทางเรือในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม เป็นท่าเรืออัตโนมัติ และสร้างกระบวนการขนส่งครบวงจรทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพอยู่ระหว่างพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการสร้างจุดบริการ One Stop Service มีการบริหารจัดการพื้นที่ 2,353 ไร่ให้มีประสิทธิภาพ เน้นบริการด้วยระบบอัตโนมัติ เชื่อมโยงระบบขนส่งทางถนน รถไฟ และทางน้ำ ทำทั้ง Green & Smart Port ควบคู่การพัฒนาชุมชนและสังคม โดยสิ่งเหล่านี้ กทท.เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความยั่งยืนของโลจิสติกส์และการสร้างสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“การท่าเรือมีความพร้อมที่จะผลักดัน Green & Smart Port ให้เกิดขึ้นภายใน 10 ปี วางรากฐานสู่การเป็น World Class Port ด้วยการผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยและการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในระดับโลกอย่างยั่งยืน” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย