ปฏิรูปภาษีตอบโจทย์ความยั่งยืน ‘คลัง’ ดันภาษีคาร์บอน หั่นนิติบุคคลหนุนลงทุนสีเขียว
”พิชัย“ เร่งศึกษาปรับโครงสร้างภาษีหนุนลงทุน ลดเหลื่อมล้ำ ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชงนโยบายการเงินลดดอกเบี้ย ค่าเงินบาทอ่อนมีเสถียรภาพ
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.2567 โดยการจัดงานวันแรกได้มีการนำเสนอถึงทิศทางนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น นโยบายการคลัง นโยบายการลงทุน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ภาวะที่เติบโตช้าเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีการลงทุนใหม่น้อย แต่ขณะนี้ก็เป็นจังหวะเวลาที่การลงทุนไหลเข้ามาในไทยมากที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งโลกร้อนและความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการโยกย้ายแหล่งผลิตและซัพพลายเชนโลก ซึ่งหลายแห่งเลือกเข้ามาลงทุนในไทย
นายพิชัย กล่าวว่า การลงทุนที่จะเข้ามามากที่สุดจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งการลงทุนใหม่ทั้งหมดนี้จะเข้ามาส่งเสริมภาคการผลิตและเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศ
ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท และคาดว่าถึง 1 ล้านล้านบาทในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา
ดังนั้น รัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การปรับนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุน (Ease of Doing Business) รวมทั้งการกำหนดนโยบายการเงินที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องช่วยผลักดันการเติบโตของภาคธุรกิจ
ชูนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยต่ำ-บาทอ่อน
สำหรับทิศทางนโยบายการเงินที่จะมาสนับสนุนการลงทุนประกอบไปด้วย
1.การมีต้นทุนการเงินต่ำ หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งประเทศไทยยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำอีกมาก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 0.6-0.7% เท่านั้น ไม่ถึง 1% ตามกรอบเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ให้อยู่ที่ 2%
2.กำหนดทิศทางค่าเงินบาทอ่อน เพื่อสนับสนุนภาคการส่งออกที่คิดเป็น 65-70% ของ GDP ประเทศ โดยค่าเงินบาทแข็งที่มาจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก จะต้องมีวิธีการจัดการย้ายไปพอร์ตที่สอง เบื้องต้นได้ศึกษาการตั้งกองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติเช่นเดียวกับที่หลายประเทศมีการตั้งกองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้การกำหนดทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนต้องมีมาตรการระยะยาวที่ชัดเจนในการทำให้มีเสถียรภาพและไปทางบาทอ่อน
“นโยบายการเงินดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็น ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารนโยบายการเงินเป็นไปอย่างรอบคอบ ธปท.จะต้องมีความคิดอย่างอิสระ วิเคราะห์ปัญหา และนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายพิชัย กล่าว
เล็ง “ปฏิรูป” ลดภาษีเงินได้ เพิ่ม VAT 15%
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะมีแนวทางการจัดเก็บรายได้เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน ประกอบไปด้วย
1.การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15% ตามหลักการ Pillar 2 ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีของไทยต้องลดลงจากปัจจุบันที่ 20% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับชาวโลกได้
2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บในอัตราที่ลดลงมาเพื่อให้ดึงดูดบุคคลากรและคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่จะจัดเก็บภาษีเงินได้อยู่ที่ 17-18% และต่ำที่สุดที่ 15%
3.ปรับเพิ่มภาษีบริโภค หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งฐานภาษีไทยอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากฐานภาษีใหญ่จากภาษีการบริโภค หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งคงไว้ที่อัตรา 7% เท่านั้น จากอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 10% ขณะที่เฉลี่ยแล้วทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% โดยจีนจัดเก็นที่ 19% สิงคโปร์ 9% และหลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ 20%
“ภาษีบริโภคเป็นภาษีที่คนทั่วไปมองว่าเซนซิทีฟ อย่างไรก็ตามหากจัดเก็บอัตราเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนให้เล็กลงได้”
ทั้งนี้ เนื่องจากการบริโภคเป็นไปตามฐานะของบุคคล คนรวยมากก็บริโภคมาก ส่วนคนรายได้น้อยจะบริโภคน้อย ดังนั้นหากเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหมายความว่าทุกคนจ่ายต่ำ ยอดการจัดเก็บรายได้รัฐก็จะมีน้อย
ขณะที่หากเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่สูงขึ้นได้ เงินกองกลางหรือรายได้รัฐก็จะใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสามารถนำรายได้ดังกล่างจัดสรรงบประมาณและส่งผ่านให้คนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจในประเทศ ในการอุดหนุนด้านสาธารณูปโภคให้มีต้นทุนที่ต่ำลง
“การเก็บภาษีสูงหรือต่ำจะต้องพิจารณาให้ดีในแง่ของนโยบายการจัดเก็บภาษีของรัฐ ผมคิดเรื่องนี้ทุกคืน ซึ่งลำดับแรกจะต้องทำให้คนเข้าใจก่อน หากไม่เข้าใจแล้ว ผมจะอยู่รอดถึงวันไหนนะ” นายพิชัย กล่าว
เสนอ ครม.เคาะภาษีคาร์บอน 11 ธ.ค.นี้
นางสาวกลุยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “Government’s Mechanisms to Achieve SDGs“ ภายในงานSustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ว่า กรมสรรพสามิต เตรียมเสนอแนวทางจัดเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ กำหนดอัตราจัดเก็บอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน โดยยืนยันว่าไม่กระทบราคาขายปลีกน้ำมัน รวมทั้งภาษีคาร์บอนจะฝังอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยจะมีอัตราแตกต่างกันไปในน้ำมันแต่ละชนิด ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในโครงสร้างภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในเบื้องต้นจะไม่ส่งผลต่อภาระภาษีของผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยผลการศึกษาของ World Economic Forum พบว่าประเทศที่มีกลไกบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน จะลดปล่อยคาร์บอนลง 2% ขณะที่ประเทศที่ไม่มีกลไกภาคบังคับจะปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 3% และช่องว่างดังกล่าวจะกว้างขึ้น
นางสาวกุลยา กล่าวว่า กรมสรรพสามิตเข้าใจดีว่าราคาน้ำมันมีความอ่อนไหวซึ่งเป็นต้นทุนของหลายภาคส่วน โดยเบื้องต้นจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคและกำหนดให้อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเท่าเดิม โดยในระยะต่อไปจะต้องมีการขยับและเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน
“บีโอไอ” เตรียมประกาศแผนรับมาตรการ OECD
นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนระยะ 5 ปีหนึ่งในเป้าหมายที่อยากให้เกิด คือ Investment และ Information ดังนั้น นโยบายท้าทายอยู่ที่ธุรกิจสีเขียวและการลดคาร์บอน
ดังนั้น จะเริ่มตั้งแต่ 2567-2570 จะเริ่มมีความท้าทายมากขึ้นมี 3 ประการ คือ1. ปัญหาภูมิรัฐศาตร์ โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายด้านการลงทุนรูปแบบหนึ่ง 3. มาตรการ OECD ถือเป็นสิทธิประโยชน์และไฟแนนเชียลของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิม
นอกจากนี้ จะมีปัจจัยพิจารณาการเก็บและคืนภาษีเมื่อกรมสรรพสามิตออกกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอนจะเป็นความกังวลของผู้ประกอบการว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยบีโอไอจะมาซัพพอร์ตว่าถ้าธุรกิจลงทุนเทคโนโลยีเพื่อลดใช้พลังงานจะเป็นแพ็คเกจยกเว้นภาษี
แหล่งเงินหนุนทั่วโลกลดคาร์บอน
นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุม COP29 ที่ผ่านมา ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับเป้าหมายการเงินใหม่ ซึ่งเรียกร้องให้ภาคีทั้งหมดระดมทุนอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2035
ทั้งนี้ถือเป็นเป้าหมายการระดมทุนรวมทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด และมุ่งหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากทุกแหล่ง ทั้งแหล่งสาธารณะและเอกชนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา
รวมทั้งขยายเป้าหมายการระดมทุนร่วมกันของประเทศพัฒนาแล้ว จาก 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีที่กำลังจะหมดเขตในปี 2025 เป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2035 ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
นอกจากนี้มีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่สำคัญมากทุกคนต้องดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกอย่างเชื่อมโยงกับกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกหรือการปรับตัวก็ตาม
“หรือจะเป็นเรื่องการเงินก็จะมีการนำมาสนับสนุน SME อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ BOI ตลาดหลักทรัพย์ กรมสรรพสามิต เพื่อจะทำให้ธุรกิจเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำที่สุดเพื่อความยั่งยืนในอนาคต”
“เอสซีจี” ชูต้นแบบ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”
นายณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยในช่วง Special Talk : Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส โดยระบุว่า โจทย์การก้าวสู่ NetZero ในปี 2065 เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดย SCG เราขับเคลื่อนผ่าน 4 กลไก คือ
1.การสร้างองค์กรคล่องตัว ยืดหยุ่น 2.มีนวัตกรรมสีเขียว 3.ผลักดันองค์กรแห่งโอกาส สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และ 4.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green economy
ทั้งนี้ SCG ยังมีเป้าหมายผลักดันให้จังหวัดสระบุรีเป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นเรื่องการท่องเที่ยวพื้นที่สีเขียว วันนี้สระบุรีแซนบ็อกซ์เป็นคลัสเตอร์แรกของไทย ที่กำลังทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยต้องยอมรับว่าวันนี้เราไปคนเดียว ไปได้ไว แต่ถ้าจะไปด้วยกันแบบ Net Zero การพัฒนาควบคู่ไปกับทุกคนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว รัฐเองต้องดึงเข้ามา SCG อยากเห็นภาพความร่วมมือเหล่านี้ เพราะถ้าเร่งเปลี่ยน ยิ่งเห็นโอกาส ถ้าเริ่มเดินหน้า คนไทยได้เห็น Net Zero แน่นอน
“ซีเมนส์” มอง 5 เมกะเทรนด์
นายรอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า มี 5 เมกะเทรนด์ที่กำลังกำหนดอนาคตของไทย คือ 1. การเปลี่ยนแปลงทางประชากร 2.การขยายตัวของเมือง 3.โลกาภิวัตน์-ภูมิรัฐศาสตร์ 4.การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม และ 5. ดิจิทัลเทคโนโลยี
ทั้งนี้ Siemens มีเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน เช่น Digital Twin ซึ่งเป็นการจำลองเสมือนจริงเพื่อดูกระบวนการผลิต ปรับปรุงการใช้พลังงาน ส่งเสริมการหมุนเวียน, Digital Grid ช่วยให้ลูกค้าสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนเชิงบวกนอกจากนี้ยังมีบริการทางการเงิน (SFS) ลงทุนในโครงการสีเขียวที่ตรงตามเกณฑ์ความยั่งยืน และเดือนเมษายน 2024ได้เปิดตัวฉลาก Siemens EcoTech
นายรอส กล่าวว่า ซีเมนส์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา และมีแผนที่จะลดอีก 5% ในปี 2025 เป้าหมายคือการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยใช้การชดเชยคาร์บอนให้น้อยที่สุด
“เราปรับพอร์ตโฟลิโอของเราให้ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ประหยัดพลังงานและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเราท้าทายตัวเองเสมอที่จะทำมากขึ้น ขณะที่การลด 50% แรกสำเร็จแล้ว ขั้นตอนถัดไปจะเป็นความท้าทายที่สุด โดยใช้เป้าหมายที่อิงวิทยาศาสตร์ (SBTi) เรามุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ภายในปี 2030 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับห่วงโซ่อุปทานของเรา”
นอกจากนั้นซีเมนส์พยายามที่จะช่วยลูกค้าลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ลดลงถึง 190 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราเองที่ 600,000 ตันใน Scope 1 และ Scope 2 และ 11 ล้านตันใน Scope 3 สิ่งนี้หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 16 เท่าต่อชั้นบรรยากาศ