สนข. ลุยเป้าหมายภาคขนส่งลดคาร์บอน 40 ล้านตัน ภายในปี 2573

สนข. ลุยเป้าหมายภาคขนส่งลดคาร์บอน 40 ล้านตัน ภายในปี 2573

สนข.ชี้เป้าหมายภาคขนส่งลดคาร์บอน 40 ล้านตันภายในปี 2573 ลุยส่งเสริมเปลี่ยนรถโดยสารพลังงานสะอาด พร้อมปรับพฤติกรรมประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะ ดันมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

"กรุงเทพธุรกิจ" จัดงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 ธ.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเสวนา Panel Discussion: The Next Chapter of Transportation for Sustainability โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเพื่อจุดประสงค์ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งนอกจากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า และฟีดเดอร์ต่างๆ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge

สนข. ลุยเป้าหมายภาคขนส่งลดคาร์บอน 40 ล้านตัน ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี นโยบายกระทรวงฯ ตั้งแต่อดีตผลักดัน Green & Safe Transport แต่เนื่องจากปัญหาสิ่งแวล้อมรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งเกิดจากภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้วันนี้กระทรวงคมนาคมต้องทำงานมากขึ้น ไม่เพียงเรื่องความปลอดภัย แต่ต้องคำนึงเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนเรื่องรถที่ให้บริการจากเชื้อเพลิงน้ำมันมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งตามแผนกระทรวงฯ จะส่งเสริมการเปลี่ยนอีวีบัส ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขต กทม.และปริมณฑณ จะเพิ่มเป็น 3,100 คันภายในปี 2568 รวมไปถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนรถไฟฟ้า 1,520 คัน และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของ บขส. 381 คันโดยทั้งหมด คือ เรื่องของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง

สนข. ลุยเป้าหมายภาคขนส่งลดคาร์บอน 40 ล้านตัน ภายในปี 2573

“โจทย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมายไว้ในปี 2573 กว่า 160 ล้านตัน ส่วนของภาคขนส่งได้รับเป้ามา ต้องลดให้ได้กว่า 40 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มต้นแล้ว โดยการผลักดันขนส่งพลังงานสะอาด” นายปัญญา กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงฯ มีนโยบายชัดเจนเพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการลงทุนภาคคมนาคม โดยพยายามจะลงทุนด้วยตนเองให้เท่าที่จำเป็น ส่วนอะไรที่เอกชนมีศักยภาพก็จะพยายามผลักดัน เช่น การขนส่งสาธารณะในจังหวัดใหญ่ๆ ถ้าท้องถิ่นพร้อม กระทรวงฯ ก็พร้อมจะสนับสนุน เพื่อให้คนที่อยู่และสร้างบ้านเองจะตอบโจทย์ตนเองมากกว่า ส่วนกระทรวงฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล