การรถไฟฯ ถึงจุดเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าลดคาร์บอนปีละ 1.1 แสนตัน
การรถไฟฯ ประกาศจุดเปลี่ยนผ่านรถไฟไทยสู่ความยั่งยืน เดินหน้าจัดซื้อหัวรถจักรไฮบริด พร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานหมุนเวียนในสถานีรถไฟ มั่นใจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 1.1 แสนตัน
"กรุงเทพธุรกิจ" จัดงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 ธ.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายวิริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมเสวนา Panel Discussion: The Next Chapter of Transportation for Sustainability โดยระบุว่า วันนี้จะเห็นการเปลี่ยนผ่านของรถไฟไทย ที่กำลังพัฒนาโครงข่ายรถไฟในระยะที่ 1 รวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งจะเสร็จทั้งหมดในปี 2568 ตอบโจทย์เรื่องการตรงต่อเวลา และสร้างโอกาสทางการเดินทางมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ ปรับระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) มาสนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟ
ขณะเดียวกัน รฟท.มีแผนผลักดันเป้าหมายภาคขนส่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากภาพรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทราบว่า 1 ใน 3 มาจากการปล่อยของคมนาคมขนส่ง ซึ่งหากการขนส่งจะไปสู่เป้าหมายนั้น ระบบรางซึ่งเป็นการคมนาคมหลักต้องเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ด้วย
“รถไฟกำลังจะแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจัดซื้อหัวรถจักรไฮบริด ซึ่งจะใช้พลังงานดีเซลลดลง 10-30% โดยหากลดลงได้ 20% ก็ลดการใช้ดีเซล 6 ลิตรต่อกิโล และคาดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนต่อปีได้กว่า 1 แสนตัน” นายวีริศ กล่าว
นอกจากนี้ หาก รฟท.สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการนำไปสู่การสร้างคาร์บอนเครดิต อีกทั้งจะต่อยอดเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนมาใช้ภายในสถานีรถไฟ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1 หมื่นตันต่อปี ดังนั้น รฟท.คาดว่าหลังจากนี้แต่ละปีจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซได้เฉลี่ย 1.1 แสนตันต่อปี
นายวีริศ กล่าวต่อว่า การผลักดันให้รถไฟไทยยั่งยืนนั้น ส่วนหนึ่งคือการเปลี่ยนหัวรถจักรมาใช้พลังงานไฟฟ้า แต่การจัดซื้อหัวรถจักรไม่มีทางยั่งยืนได้ เพราะประเทศที่เจริญแล้ว มีขีดความสามารถ ต้องสร้างหัวรถจักรได้เอง เนื่องจากการจัดซื้อหัวรถจักร 1 ครั้ง ต้องมีสัญญาซ่อมบำรุงอีกกว่า 10 ปี สิ่งที่จะทำให้องค์กรยั่งยืน คือการสร้างรถจักรเอง ผลักดันอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเชื่อว่า 2-3 ปีนี้จะได้เห็นการเริ่มเดินหน้า แต่เมื่อเริ่มแล้วทำให้ยืนยาวต้องมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง