'เอกนัฏ' หยิบไอเดีย 'ญี่ปุ่น เสริมร่างกม.กากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular

'เอกนัฏ' หยิบไอเดีย 'ญี่ปุ่น เสริมร่างกม.กากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular

“เอกนัฏ” หยิบไอเดีย“ญี่ปุ่น” เสริมร่างกฎหมายกากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular “สุเมธ” เผยขยายใช้ระบบติดตามกากสารพิษ Real Time ใน 14 นิคมฯ ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเข้าพบหารือกับ นายนาคาดะ ฮิโรชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และกระทรวงอุตสาหกรรมไทย มีความร่วมมือที่ดีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ผ่านบันทึกความร่วมมือ (MOC) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง และการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะสามารถทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้

\'เอกนัฏ\' หยิบไอเดีย \'ญี่ปุ่น เสริมร่างกม.กากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular

“ในการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูลและนาแนวทางการกำกับดูแลโรงงาน และการจัดการกากอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) แห่งแรกในพื้นที่ EEC ด้วยว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการรีไซเคิล และการลดของเสียจากทางญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular ของไทย ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (International Center for Environmental Technology Transfer : ICETT) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่อุตสาหกรรม (Green Industry) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

“ความร่วมมือกับ ICETT ตลอดจนลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับสำนักฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและวัฏจักรของวัสดุ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และองค์ความรู้เพื่อจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายณัฐพล กล่าว

ขณะที่ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ.เองก็มีการพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบทันสถานการณ์ (Real-Time) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกาก ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566

“กนอ.ได้ขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real Time ใน 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่สะอาด สอดรับแนวทางส่งเสริม BCG Economy และ Carbon Neutral ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายสุเมธ ระบุ