“อัตราสูญเสียเชิงรายได้”นโยบาย รถไฟฟ้า20บาทช่วง 1ปี เฉียด300ล้าน
“ค่าเดินทาง”นับเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของประชาชนโดยเฉพาะวัยทำงานหากรัฐสามารถลดต้นทุนค่าเดินทางให้ประชาชนได้จะเท่ากับเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนทั้งในมุมกำลังซื้อจากส่วนต่างเงินที่เหลือหลังค่าใช้จ่ายการเดินทางลดลง
เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ เรื่อง มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สําหรับรถไฟชานเมือง สายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน)และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
“มาตรการค่าโดยสาร สูงสุด 20 บาทตลอดสายรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทาง ดำเนินการมาตั้งแต่ ต.ค. 2566 เดิมที่สิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567 ที่ประชุมครม.จึงเห็นควรให้ขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไป ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2568 โดยให้การรฟท. ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อชดเชยการขาดรายได้ส่วนต่างค่าโดยสารตามจริง ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561”
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินมาตรการฯ เปรียบเทียบกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง พบว่า กรณีรถไฟชานเมืองสายสีแดง รายได้ค่าโดยสารที่สูญเสียเป็นการนําประมาณการ รายได้ค่าโดยสารกรณีจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทจะมีรายได้ 239.47 ล้านบาท มาหักลบกับรายได้ที่จัดเก็บได้ในช่วงการดําเนินมาตรการฯ ระหว่างเดือนต.ค.2566 - ก.ย. 2567 จํานวน 210.56 ล้านบาทเท่ากับว่าสูญเสียรายได้ 28.91 ล้านบาท
ส่วนกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง รายได้ค่าโดยสารที่สูญเสีย เป็นการนํารายได้ค่าโดยสาร กรณีเก็บตามอัตราจริงสูงสุด 42 บาท ในช่วงระหว่างเดือนต.ค. 2566 - ก.ย. 2567 ซึ่งควรจะมีรายได้จํานวน 588.27 ล้านบาท มาหักลบกับรายได้ที่จัดเก็บได้ในช่วงการดําเนินมาตรการฯ ระหว่างเดือนต.ค. 2566 - ก.ย. 2567 ซึ่งมีรายได้จริง 336.12 ล้านบาท เท่ากับว่ามีการสูญเสียรายได้ 252.15 ล้านบาท
ขณะที่ ประมาณการสูญเสียรายได้ กรณีขยายเวลานโยบายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2568นั้น กระทรวงคมนาคม ได้จัดทําข้อมูลตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาเพื่อประกอบการพิจารณาของ
ครม.แล้ว โดยประมาณการว่าจะต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ให้ รฟท. และมีการสูญเสียรายได้ ของ รฟม. ดังนั้น
สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ประมาณการค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ 35.35 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินชดเชยค่าโดยสารรฟท.จะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ประมาณการค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ 272.99 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินชดเชยค่าโดยสารรฟม. จะนําเงินรายได้ ที่ต้องส่งคลังมาชดเชย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดําเนินมาตรการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคํานึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น
"กรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีรายได้ค่าโดยสารรวม 336.13 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับกรณีจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ (14 - 42 บาท) โดยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากการดําเนินมาตรการฯ คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ ประมาณ 588.27 ล้านบาท จึงสูญเสียรายได้รวม 252.15 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณามูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมการดําเนินมาตรการฯ ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยสร้างมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สุทธิ 937.59 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ค่าโดยสารที่สูญเสีย"
สำหรับแผนการทำงานในระยะยาว รัฐบาลจะต้องเร่งทำงานให้เป็นไปตามที่ รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่12 ก.ย. 2567 โดยรัฐบาลจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Project)ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่า นโยบาย รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายราคาเดียว ตลอดสาย หรือ รถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย จะ สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ภายในเดือนก.ย. 2568 เนื่องด้วยต้องมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม จัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญาจึงจำเป็นต้องรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.2567 ก่อนผลักดันตามขั้นตอนและมีผลบังคับใช้ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568
โดยภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30 โดยแบ่งเป็น มาตรา 29 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า“กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล 2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม ขณะแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯมีการกำหนดไว้ใน มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ 1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ 3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต 4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน 5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40 ส่วนแหล่งที่ 7 คือเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน 8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม ข้อ2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน