หนี้ครัวเรือน ภาพจริงประเทศไทย

หนี้ครัวเรือน ภาพจริงประเทศไทย

ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง วันที่ 11 ธันวาคม 2567 รัฐบาลจะประกาศมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนลดภาระหนี้ให้กับประชาชน

ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เอสเอ็มอี  โดยหนี้บ้านกำหนดเพดานราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ ไม่เกิน 8 แสนบาท หนี้เอสเอ็มอี ต้องมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีการคาดว่าอาจจะขยายเพดานการแก้หนี้ในกลุ่ม เอสเอ็มอี เพิ่มเป็น 5 ล้านบาท เพื่อให้ลูกหนี้ออกจากบัญชี “เอ็นพีแอล” หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมีโอกาสกลับมาเข้าสู่ระบบการเงินได้อีกครั้ง

ลูกหนี้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายหนี้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา  12 เดือน ทั้งลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี และลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยให้จ่ายเฉพาะเงินต้นติดต่อกัน 12 เดือนต่อเนื่อง และไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้ในช่วงที่ทำสัญญาแก้หนี้ หากทำได้ สถาบันการเงินจะยกเว้นดอกเบี้ยทั้งหมดให้ ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่ค้างชำระหนี้ในกลุ่มที่จ่ายเงินต้น 10-15 % จากเงินค้างชำระทั้งหมด สามารถล้างหนี้ ปิดหนี้ทั้งก้อนได้ทันทีเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ ให้พ้นจากการเป็นหนี้ทั้งก้อน  

ณ สิ้นเดือน ต.ค.หนี้เอ็นพีแอล อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท แยกเป็นหนี้บ้าน ที่ 2.3 แสนล้านบาท 1.6 แสนสัญญา​ หนี้รถยนต์​ 2.6 แสนล้านบาท 8.4 แสนสัญญา ​บัตรเครดิต​ 7 หมื่นล้านบาท 1​ ล้านสัญญา ​สินเชื่อส่วนบุคคล​ 2.8 แสนล้าน​บาท 4.9 ล้านสัญญา​ หนี้ทำธุรกิจ​ 7.9 หมื่นล้านบาท​ 1.7 แสนสัญญา และ นาโนไฟแนนซ์​ 1 หมื่นล้านบาท มีบัญชีค้างชำระที่ 2.5 แสนสัญญา โดยหากรวมทั้งหมด คิดเป็นหนี้เสียที่ 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นบัญชีที่เป็นหนี้เสียแล้ว 9.6 ล้านบัญชี​

ส่วนหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือ SM มีจำนวน​ 6.6 แสนล้านบาท​ หรือ 2.2 แสนสัญญา​ หลักๆคือสินเชื่อบ้าน​ 1.3 แสนสัญญา, สินเชื่อรถยนต์​ 5.4 แสนสัญญา​ บัตรเครดิต ​1.7 แสนใบ​ สินเชื่อส่วนบุคคล​ 7.9 แสนสัญญา​ เงินกู้ไปค้าขาย​6.7 หมื่นสัญญา​และนาโนไฟแนนซ์​ 5.5 หมื่นสัญญา​​ ทั้งสองกลุ่ม มียอดหนี้รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท และมีบัญชีที่ค้างชำระรวมกันถึง 11.82 ล้านสัญญา  

นี่ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ซึ่งจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2566 พบว่าครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ 47.5% ก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ หรือ หยุดชำระสินเชื่อจะเลือกผิดนัดสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาทก่อนสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อรักษาวงเงินในบัตรไว้ใช้จ่ายการที่รัฐบาลแก้หนี้ด้วยการพยายามให้คนตัวเล็กชำระหนี้อย่างต่อเนื่องและห้ามก่อหนี้เป็นเวลา 1 ปีควรทำควบคู่กับการเพิ่มสภาพคล่องให้ครัวเรือนมีกำลังในการชำระหนี้ เป็นการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยไม่กลับมาก่อหนี้ป้องกันไม่ให้มีมาตรการแก้หนี้วนลูปอีก