เช็คผลงาน 1 ปี 'คมนาคม' ใต้เงา 'เพื่อไทย' กับนโยบายชิ้นโบว์แดง
เช็คผลงาน "คมนาคม" ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เดินหน้านโยบายเรือธง "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ขึ้นแท่นผลงานชิ้นโบว์แดง ลดค่าครองชีพ ปรับพฤติกรรมประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น พร้อมชง ครม.ต่ออายุอีก 1 ปี ขณะที่การลงทุนเมกะโปรเจกต์จับตาปี 2568 ถึงเวลาเปิดประมูล "แลนด์บริดจ์"
KEY
POINTS
- เช็คผลงาน "คมนาคม" ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เดินหน้านโยบายเรือธง "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ขึ้นแท่นผลงานชิ้นโบว์แดง ลดค่าครองชีพ ปรับพฤติกรรมประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น พร้อมชง ครม.ต่ออายุอีก 1 ปี ถึง 30 พ.ย.2568
- เดินหน้าผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วม หวังขยายมาตรการครอบคลุมรถไฟฟ้า "ทุกสีทุกสาย" ในเดือน ก.ย.2568 เร่งจัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา
- ขณะที่การลงทุนเมกะโปรเจกต์จับตาปี 2568 ถึงเวลาเปิดประมูล "แลนด์บริดจ์" 1 ล้านล้านบาท ขยายรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 อีก 6 โครงการรอเสนอ ครม.และประกวดราคา วงเงินลงทุนรวม 245,260 แสนล้านบาท
12 ธ.ค.นี้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เตรียมแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาล พร้อมนำเสนอกรอบการทำงานและโครงการเรือธงที่จะทำต่อไปในปี 2568 ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ขณะที่กระทรวงคมนาคมก็ใกล้ครบรอบ 1 ปี ใต้เงา 3 รัฐมนตรี “เพื่อไทย” ซึ่งพบว่าตลอดปีที่ผ่านมา มีผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมตามนโยบายประกาศไว้ และยังมีโครงการค้างท่อที่พลาดเป้ายังไม่สามารถดำเนินการได้ รอส่งไม้ต่อในปี 2568
กระทรวงคมนาคมใต้เงา “เพื่อไทย” ซึ่งนำโดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเรือธงคือการมุ่ง “ลดค่าครองชีพ” ระบบขนส่งสาธารณะจะต้องเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางราง เพื่อลดต้นทุนการเดินทางและโลจิสติกส์
โดยในปี 2567 นโยบายที่กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรม คือ “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ซึ่งเริ่มเชื่อมต่อระบบให้ประชาชนสามารถเดินทางระหว่างรถไฟชานเมือง สายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน)และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 และตลอดทั้งปี 2567
สำหรับผลของการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว หลังจากกระทรวงฯ เริ่มนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2566 เป็นต้นมา พบว่าสูญเสียรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยผลการดำเนินมาตรการ สะสม ณ สิ้นเดือน ก.ย.2567 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ผลปรากฎว่า
รถไฟชานเมืองสายสีแดง ก่อนดำเนินมาตรการ มีรายได้ 203.47 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 2.59 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนดำเนินมาตรการ มีรายได้ 455.46 ล้านบาท เมื่อดำเนินมาตรการแล้วรายได้ลดลงจากเดิม 119.33 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกับของปี 2566 ภายหลังเริ่มดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา ในภาพรวมพบว่ามีผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยจำนวนผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพิ่มขึ้นประมาณ 51.86% ในขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มขึ้นประมาณ 17.54% ทำให้นโยบายนี้กระทรวงคมนาคมเรียกว่าเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ที่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น
โดยล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดเชียงใหม่ (ครม.สัญจร) เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เสนอต่ออายุมาตรการค่าโดยสาร สูงสุด 20 บาทตลอดสายรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทาง จากเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567 ขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2568 และคาดว่าจะส่งผลทำให้ประชาชนเลือกเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเป้าหมายในปี 2568 กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ครอบคลุมรถไฟฟ้า “ทุกสีทุกสาย” ผ่านการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม และจัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา โดยมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในเดือน ก.ย.2568
ขณะที่ผลงานผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการประกวดราคา 2 โครงการ ประกอบด้วย
- รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย 167 กิโลเมตร มูลค่า 28,719 ล้านบาท
- โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร มูลค่า 24,060 ล้านบาท
ส่วนโครงการสำคัญที่ต้องจับตาในปี 2568 คาดว่าจะมีการผลักดันเปิดประกวดราคา อาทิ
โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เหลือ 6 โครงการรอเสนอ ครม.และประกวดราคา วงเงินลงทุนรวม 245,260 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
- ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
- ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท
- ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท
- ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท
- ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท
- ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท
โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมวงเงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
- รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มธ. ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท
- รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงศิริราช - ตลิ่งชัน – ศาลายา วงเงิน 15,286 ล้านบาท
โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 (M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 31,358 ล้านบาท
มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท
โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ วงเงิน 16,960 ล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูง นครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงิน 341,351 ล้านบาท
พัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่
- ท่าอากาศยานล้านนา (ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2) วงเงินลงทุน 70,000 ล้านบาท
- ท่าอากาศยานอันดามัน (ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท
โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ วงเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท จะเริ่มต้นขั้นตอนประมูลในปี 2568