ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก. 2 ฉบับ ปูทางเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามแนวทาง ‘OECD’
ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก. 2 ฉบับภาษีส่วนเพิ่ม และแก้ไขเกณฑ์กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปูทางไทยเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามแนวทาง ‘OECD’ "จุลพันธ์" ชี้แนวทางชัดเจนเป็นประโยชน์ในการดึงการลงทุน คาดดึงเงินรายได้เพิ่มกว่าหมื่นล้านต่อปี
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.วันนี้ (11 ธ.ค.67) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในไทย โดยต้องเก็บภาษีจากบริษัทนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ตามแนวทาง Global minimum tax ขององค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้แก่
1.พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ...
และ 2.พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสหรัฐอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ...
ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปจะประกาศบังคับใช้ให้ทันกับกำหนดที่จะเริ่มเก็บในปี 2568 หลังจากนั้นจะรายงานให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับทราบต่อไป
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การออกกฎหมายในเรื่องภาษีเป็น พ.ร.ก.นั้นเป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ได้ต้องการระยะเวลาในการให้สาธารณชนได้ทราบล่วงหน้านานนัก โดยจะมีขั้นตอนในการประกาศ และมีผลบังคับใช้
โดยในส่วนของภาษีเกณฑ์ของ Global minimum tax ถือเป็นหลักการที่ทั่วโลกมีการรับรู้ร่วมกันว่าเป็นหลักปฏิบัติของ OECD และมีประเทศที่เข้ามาร่วมในกติกานี้มากกว่า 100 ประเทศแล้ว
และในส่วนของประเทศไทย นั้นก็มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสอบถามในส่วนนี้อยู่มาก หากเราสามารถที่ประกาศได้ชัดเจนก็จะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะมีการเลือกเสียภาษีในประเทศไหน จะเสียที่ประเทศไทยหรือประเทศต้นทาง
"มาตรการนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะนอกจากเกิดความชัดเจนในการดึงการลงทุนแล้ว กระทรวงการคลัง คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี" นายจุลพันธ์ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์