บทเรียนจาก ‘ญี่ปุ่นและสิงคโปร์’ ถึงไทย ทำไมต้องขึ้น VAT ?

บทเรียนจาก ‘ญี่ปุ่นและสิงคโปร์’ ถึงไทย ทำไมต้องขึ้น VAT ?

การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กำลังเป็นประเด็นร้อนในการแก้ปัญหาการคลังของไทย ท่ามกลางรายได้ภาษีที่ลดลง การขาดดุลทางการคลัง และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น นักวิชาการชี้ บทเรียนจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ สะท้อนแนวทางการปรับขึ้นภาษีอย่างมียุทธศาสตร์ ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน เตรียมมาตรการเยียวยา และขึ้นภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดกระทบต่อประชาชน

หนึ่งในรายได้สำคัญและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักของรัฐบาลหลายประเทศคือการเก็บภาษีจากการบริโภคหรือ Consumption Tax ซึ่งหนึ่งในนั้นคือภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ที่บอกว่าเป็นรายได้สำคัญและรายได้หลักของรัฐบาลก็เพราะว่าภาษีชนิดนี้เป็นภาษีที่มี “ประสิทธิภาพ” การจัดเก็บมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาษีประเภทอื่นเพราะประชาชนทุกคนต้องจ่ายไปพร้อมกับการซื้อสินค้าและบริการ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทุกประเทศมักให้ความสำคัญกับการเก็บภาษี VAT อย่างมากและบางครั้งหลายรัฐบาลในหลายประเทศก็ต้องการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล ทว่าสิ่งที่ตามมามักจะเป็นความไม่พอใจของประชาชนเพราะส่งผลให้พวกเขาต้องซื้อสินค้าและบริหารแพงขึ้นรวมทั้งการขึ้นภาษี VAT ก็มีผลกระทบทำให้เงินเฟ้อจากสินค้าและบริหารขยับตัวขึ้นเช่นกัน

สถานะการคลังไทย น่าห่วง ?

สำหรับบริบทประเทศไทย หากพิจารณาสถานะทางการคลังของประเทศ นักวิชาการส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยว่าควรมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางการคลัง 3 ประการดังนี้

ข้อแรกคือ “รายได้จากภาษี” ของรัฐบาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า รายได้จากภาษีของรัฐบาลไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดิมในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 16% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทว่ากลับลดลงมาอยู่ที่เพียง 14% ในช่วงปี 2565 – 2566 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม

 

ข้อต่อมาคือ “การขาดดุลทางการคลัง” ของประเทศไทย โดยตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลต่างดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุลทั้งสิ้นและยังขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยว่า ในปี 2563 และ 2564 รัฐบาลดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.6% และ 4.5% ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อช่วงปี 2547 ขาดดุลอยู่ที่เพียง 1%

โดยการขาดดุลทางการคลังนั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากรายจ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ที่ลดลงอย่างเช่นเม็ดเงินจากภาษีเป็นต้น

บทเรียนจาก ‘ญี่ปุ่นและสิงคโปร์’ ถึงไทย ทำไมต้องขึ้น VAT ?

ที่สำคัญรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นกว่า 70% ก็ยังเป็นรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพบว่า ในปี 2566 รายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนของไทยอยู่ที่ 67.2% โดยมากที่สุดคือ25.7% เป็นรายจ่ายสำหรับเงิรเดือนและค่าตอบแทนของข้ารายการ16.2% มาจากสวัสดิการบุคลากรรัฐ 12.8% มาจากการชำระหนี้และภาระผูกพัน ส่วน 12.5% มาจากรายจ่ายจากสวัสดิการสำหรับประชาชน

บทเรียนจาก ‘ญี่ปุ่นและสิงคโปร์’ ถึงไทย ทำไมต้องขึ้น VAT ?

 

ประเด็นสุดท้ายคือ “หนี้สาธารณะ” ของประเทศไทยที่ขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะของไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 อยู่ที่ 62.1% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.7% ในปี 2571 ซึ่งเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ 70% ต่อจีดีพี ดังนั้นหากรัฐบาลมีรายได้ลดน้อยลงก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีเงินไม่มากพอไปจ่ายหนี้ดังกล่าว

บทเรียนจากสิงคโปร์-ญีปุ่น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความจำเป็นในการจัดเก็บรายได้เพิ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษี VAT ทว่า นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปและระบุกรอบเวลาในการปรับขึ้นให้ชัดเจน เช่น ระบุให้ชัดเจนว่าจะขึ้นภาษีดังกล่าวจากเดิม 7% ไปเป็น 10% ภายในระยะเวลากี่ปีและจะมีอัตราในการเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี

นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนการปรับเพิ่ม VAT รัฐบาลอาจนำบทเรียนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลสิงคโปร์มาปรับใช้ กล่าวคือในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ปรับขึ้นภาษีสินค้าและบริการจาก 1% เป็น 9% เนื่องจากประสบปัญหาทางการคลัง ทว่าเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลสิงคโปร์ออก Insurance Package ตลอด 3-4 ปีหลังจากปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า อีกหนึ่งอย่างที่รัฐบาลสามารถทำได้คือแสดงความจริงใจในการลดรายจ่ายของรัฐบาลไปพร้อมกับการประกาศขึ้นภาษีเพื่อหารายได้เพิ่ม รวมทั้งหาวิธี “อุดช่องว่าง” ทางภาษีของประเทศไทยให้ครบไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีจากเศรษฐกิจนอกระบบ (Shadow Economy) ซึ่งมีสูงถึง 50% ของจีดีพี จัดการเรื่องภาษีสินทรัพย์และมรดก รวมทั้งตรวจสอบความตรงไปตรงมาในการยื่นภาษีของบริษัทเอกชนว่าจ่ายภาษีครบ ถูกต้อง และเป็นธรรมหรือไม่

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า หนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับขึ้นภาษีการบริโภคคือญี่ปุ่น

ในปี 2557 ชินโซ อาเบะ ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% และต่อมาในปี 2562 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% โดยนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและเพิ่มรายได้ของรัฐบาลแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือเพื่อทำให้เงินเฟ้อเกิดขึ้นเพราะขณะนั้นญี่ปุ่นเผชิญกับสภาวะเงินฝืดอย่างหนัก รัฐบาลจึงทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นการเติบโตของประเทศภายใต้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายขั้นสุด

ดร.สมชัย อธิบายว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียความนิยมทางการเมืองและสามารถขับเคลื่อนนโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ อาเบะจึงประกาศขึ้นอัตราภาษีแบบขั้นบันไดเริ่มจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเม.ย. ปี 2557 และจาก 8% เป็น 10% ในปี 2562 แม้ระหว่างนั้นจะเลื่อนการขึ้นภาษีไปหนึ่งครั้งเนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

ทว่าหนึ่งวิธีที่อาเบะประกาศคือ เขาระบุชัดเจนว่า รายได้ของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้นจากการขึ้นภาษีจะนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนรากหญ้าโดยประกาศแผนและข้อปฏิบัติอย่างชัดเจน ทั้งหมดจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในที่สุด

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ, Nikei Asia