คุณสู้ เราช่วยแก้ไขหนี้ยั่งยืน??
“หนี้ครัวเรือน” คือปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ลูกหนี้รายย่อย และSMEs ขนาดเล็กครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย ยอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้
โดยมาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์” ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปีโดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด หากชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ)ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น
ส่วน “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย(สถานะNPL)แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท)เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น โดยจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจและผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาหนี้จะยั่งยืนได้ ลูกหนี้จะต้องมีวินัย การดำเนินการจะต้องเป็นความต้องการของลูกหนี้ โดยมีภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ เป็น “ตัวช่วย” เพื่อลดภาระและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โครงการนี้จะสำเร็จได้ จะต้องเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ ภาครัฐและเจ้าหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และในอนาคตรัฐบาลควรจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ของกลุ่ม Non-bank รวมไปถึงหนี้นอกระบบ
ซึ่งมีข้อมูลว่าในปี 2566 พบว่าครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีมากกว่านั้น ในจำนวนนี้ประมาณ 47.5% ก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค และลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ หรือ หยุดชำระสินเชื่อจะเลือกผิดนัดสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มวงเงินต่ำกว่า 3 ล้านบาทก่อนสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อรักษาวงเงินในบัตรไว้ใช้จ่าย รัฐบาลควรจะมีมาตรการแก้ไขที่รัดกุม หากว่ามีลูกหนี้บางส่วนเป็นหนี้ทั้ง 2 ระบบจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนได้ เพราะจะกลายเป็นว่า สามารถแก้ปัญหาหนี้ ปิดหนี้ในระบบได้ แต่กลายมาเป็นลูกหนี้นอกระบบรายใหม่แทนในช่วง 1 ปีที่ห้ามก่อหนี้ การเพิ่มรายได้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยไม่ให้เป็นหนี้ซ้ำซากได้