การค้าสินค้าเกษตรไทย ปี 67 เกินดุลกว่า 9 แสนล้านบาท
สศก. เผยสินค้าเกษตรไทยยังคงโดดเด่นในตลาดโลก 10 เดือนแรก เกินดุล ทะลุ 9 แสนล้านบาท ส่งออกข้าวนำโด่ง คู่ค้าสำคัญ ยังเป็นจีน แนะกระจายตลาดลดความเสี่ยงนโยบายทรัมป์
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม - ตุลาคม 2567)ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งสิ้น 2,146,745 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 1,536,704 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.24% การนำเข้ามูลค่า 610,041 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15% ส่งผลให้ไทยมีดุลการค้าสินค้าเกษตรเกินดุลถึง 926,663 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากสถิติการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับโลก ในเดือนม.ค.-ต.ค. 2567 พบว่า สินค้าเกษตร ที่มูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ได้แก่ ข้าว มูลค่า 168,685 ล้านบาท ขยายตัว 39.24% ทุเรียนสด มูลค่า 130,352 ล้านบาท หดตัว 4.57% ยางธรรมชาติ มูลค่า 95,927 ล้านบาท ขยายตัว 54.33% ไก่แปรรูป มูลค่า 87,009 ล้านบาท ขยายตัว 10.75% และอาหารสุนัขหรือแมว มูลค่า 79,071 ล้านบาท ขยายตัว 35.45%
ในขณะที่สินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ ถั่วเหลือง มูลค่า 56,613 ล้านบาท หดตัว 10.38% กากน้ำมัน และกากแข็งอื่นๆ ที่ได้จากการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง มูลค่า 43,780 ล้านบาท หดตัว 22.90% ปลาสคิปแจ็คแช่แข็ง มูลค่า 32,452 ล้านบาท ขยายตัว 26.75% ข้าวสาลีและเมสลิน มูลค่า 31,820 ล้านบาท หดตัว 23.51% และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ มูลค่า 28,131 ล้านบาท ขยายตัว 22.62% โดยในส่วนของสินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง รวมถึงการนำเข้ามาเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสุนัขหรือแมวส่งออกไปต่างประเทศต่อไป
ประเทศคู่ค้าสำคัญที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อาเซียน สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทยแล้ว ยกเว้นสหรัฐ และสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ แนวโน้มการค้าสินค้าเกษตรของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ในภาพรวมถือว่าสินค้าเกษตรยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ประกอบกับไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทุกประเทศข้างต้น ถึงแม้ว่า สถานการณ์การค้าโลกในช่วงนี้ยังคงเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน อาทิ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ นโยบายสีเขียวและความยั่งยืน รวมถึงสภาพอากาศในยุคโลกเดือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่จากสถิติการค้าสินค้าเกษตรของไทยในหลายปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่โดดเด่นในระดับโลก โดยปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย ได้แก่ ความหลากหลายของสินค้าเกษตรที่ผลิตและส่งออก การพัฒนาเทคโนโลยี ในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐาน ทำให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคเอเชียและตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากการกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ยังคงนโยบาย “Make America Great Again” สานต่อ “American First” ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนสูงถึง 60% และจากประเทศอื่น ๆ 10-20% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศ
ทำให้ไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เนื่องจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ กับจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยต้องกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก เร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า โดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ตลอดจนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและช่วยส่งเสริมการเติบโตของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกต่อไป
ด้าน นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า รายละเอียดสถิติการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศ คู่ค้าหลัก ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 จะพบว่า จีน ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 460,086 ล้านบาท ลดลง 2.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 375,323 ล้านบาท ลดลง 5.73% และการนำเข้า 84,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.08% โดยไทยได้ดุลการค้า 290,560 ล้านบาท
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ทุเรียนสด ยางธรรมชาติ น้ำตาล สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และผลไม้และลูกนัตอื่นๆ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ องุ่นสด ปลาทูนากระป๋อง แอปเปิลสด อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ และของปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงสัตว์
อาเซียน ไทยและอาเซียนมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 501,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.92% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 345,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น5.20% และการนำเข้า 155,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.20% โดยไทยได้ดุลการค้า 190,218 ล้านบาท
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาลที่ได้จากอ้อย น้ำตาลดิบ น้ำ/น้ำอัดลม/น้ำแร่ และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เมล็ดกาแฟดิบ และผลไม้และลูกนัตอื่นๆ
สหรัฐ ไทยและสหรัฐ มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 188,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.37% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 152,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.06% และการนำเข้า 35,548 ล้านบาท ลดล 10.35% โดยไทยได้ดุลการค้า 116,929 ล้านบาท
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว ข้าว ปลาทูนากระป๋อง ยางธรรมชาติ และน้ำผลไม้ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวสาลีและเมสลิน ถั่วเหลือง อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงสัตว์ และขี้ตะกอนและเศษจากการต้มกลั่น
ญี่ปุ่น ไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 158,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 146,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.61% และการนำเข้า 12,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.46% โดยไทยได้ดุลการค้า 134,474 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อและเครื่องในแช่แข็ง อาหารสุนัขหรือแมว ยางธรรมชาติ และปลาทูนากระป๋อง และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ปลาซาร์ดีนแช่แข็ง ปลาสคิปแจ็คแช่แข็ง หอยเชลล์แช่แข็ง เนื้อโคกระบือแช่แข็ง และซอสปรุงแต่ง
สหภาพยุโรป ไทยและสหภาพยุโรป มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันรวม 135,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น การส่งออกมูลค่า 89,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.05% และการนำเข้า 46,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.14% โดยไทยได้ดุลการค้า 43,068 ล้านบาท
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางธรรมชาติ อาหารสุนัขหรือแมว ไก่ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง เนื้อหรือส่วนอื่นของสัตว์ซึ่งบริโภคได้ ใส่เกลือ แช่น้ำเกลือ แห้ง หรือรมควัน และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าวสาลีและเมสลิน เนื้อสัตว์หรือส่วนอื่นของสัตว์ ป่น ทำเป็นเพลเลต กากมันสัตว์ที่เจียวน้ำมันออกแล้ว อาหารสัตว์อื่นๆ อาหารปรุงแต่งอาหารปรุงแต่งอื่นๆ ที่ทำจากธัญพืช หรือสิ่งสกัดจากมอลต์