ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับตัวตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับตัวตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับตัวตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม ประชาชนคลายกังวลน้ำท่วม ชี้ รัฐออก 3 มาตรการปี 68 มีเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 1.6-1.8 แสนล้านบาทกระตุ้น GDP ได้อย่างน้อย 1.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,242 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพ.ย.ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 56.0 เป็น 56.9  เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 50.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 54.3   และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 66.1  ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นมาจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นและการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำให้มองว่า  น่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ซึ่งน่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้น แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นจริงหรือไม่เพราะการที่ดัชนีความเชื่อมั่นจะฟื้นจะต้องดีต่อเนื่อง 2 ไตรมาส

ทั้งนี้ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 68 นโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐจะออกมา 3 มาตรการหลัก คือ

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาท

 2. มาตรการ "คุณสู้ เราช่วย" พักดอกเบี้ย ลดการชำระเงินต้น ซึ่งจะมีการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 67-28 ก.พ. 68 ซึ่งน่าจะเริ่มมีผลในปลายไตรมาส 1โดยหอการค้าคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งปีอย่างน้อย 80,000-100,000 ล้านบาท ที่ประชาชนจะประหยัดไปได้ และธนาคารเองก็จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้ต่อ

โดยในส่วนของประชาชนจะได้รับประโยชน์ทางตรง ประหยัดค่าดอกเบี้ย ลดการส่งเงินต้น ซึ่งจะทำให้ผู้กู้จำนวน 1.9 ล้านราย วงเงินประมาณ 9 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้คงค้างหมดเร็ว และภายใต้เงื่อนไขไม่ก่อหนี้ใหม่ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนลดลงไปอย่างน้อยหลายแสนล้านบาท ซึ่งทำให้ผลต่อผู้กู้ได้ประหยัดเงิน สามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ และนำมาจับจ่ายใช้สอย

ในส่วนของระบบธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่ได้สำรองหนี้สูญไปแล้ว เพราะ NPL เกิน 6 เดือน จะตีกลับมาเป็นการรับรู้รายได้ถ้าเป็นการบันทึกบัญชีปกติ และเงื่อนไขในการอยู่ในโมเดล TFRS 9 ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การดำรงสินทรัพย์ ป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ น่าจะทำได้ดีขึ้น และน่าจะมีเม็ดเงินเหลือในส่วนของการปล่อยเงินกู้สินเชื่อใหม่ได้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อธนาคารกลับมาทำงานได้เป็นปกติ และปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ระบบเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และเมื่อ GDP ดีขึ้น และหนี้คงค้าง หรือหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาร่วมกับหลายหน่วยงาน จะทำให้หนี้ต่อ GDP จากระดับ 89.6% ลดลงได้ในปีหน้ามาอยู่ที่ระดับ 87% ได้

3.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1 บาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท

“คาดว่าน่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงครึ่งปีแรกได้ 160,000-180,000 ล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก กระตุ้น GDP ได้อย่างน้อย 1.5% อย่างไรก็ดี เป็นการประเมินโดยยังไม่ได้รวมสถานการณ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสงครามการค้า”นายธนวรรน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ระดับ 48.8 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนพ.ค. และต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 3

เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอน และราคาของวัตถุดิบบางอย่างยังคงอยู่ในระดับสูง ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความแน่นอน  การเมืองที่ไม่นิ่ง การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น การส่งออกเดือนต.ค.ขยายตัว 14.6 % ทั้งนี้ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนของภาคธุรกิจให้มีความเสถียรภาพ รักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อการส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศนั้น ภาคธุรกิจเห็นว่าต้องดูว่าระดับใดเหมาะสม ซึ่งมองว่าการปรับค่าแรงต้องเอามาตรฐานแรงงานมาเป็นตัววัด  ซึ่งปัจจุบันบางบริษัทจ่ายค่าแรงเกิน 400  บาทแล้วตามมาตรฐานแรงงาน

นอกจากนี้การปรับค่าแรงต้องเป็นไปตามกลไกราคาของแต่ละจังหวัดซึ่งมีสูตรไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัดตามค่าครองชีพและเศรษฐกิจ จึงควรให้เป็นไปตามไตรภาคี จากการประเมินของศูนย์ฯไทยมีแรงงาน 40 ล้านคน ประมาณ 40 % หรือ 10-15 ล้านคนจะรับค่าแรงขั้นต่ำ บางส่วนแรงงานไปอยู่ภาคการเกษตร เอสเอ็มอี  ภาระค่าแรงก็ตกอยู่ภาคเกษตรและเอสเอ็มอี ทำให้ต้องจ่ายเงินค่าแรงเพิ่ม

ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงแบบกระชากจึงไม่เห็นด้วย ควรเป็นไปตามไตรภาคีจังหวัดและกำลังจ่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งเงินที่เงินเป็นเรื่องของเอกชนล้วนๆและเป็นการบังคับตามกฎหมายไม่ใช่งบประมาณของรัฐ และหากมีการปรับค่าแรง 400 บาทก็จะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นประมาณ 6.8 % ก็จะผลักภาระต้นทุนที่สูง 20-30 % ไปยังราคาสินค้าก็ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 1 %