พาณิชย์เปิดข้อมูล 10 ธุรกิจค้าปลีกเด่น กำไรเติบโตเผชิญความท้าทายเศรษฐกิจ
สนค.วิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกไทย เผย ตลาดค้าปลีกไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 4.8% ต่อปี มีแรงงานกว่า 2 ล้านราย ชี้ธุรกิจค้าปลีกแข่งขันสูง แนะผู้ประกอบการปรับตัว
KEY
POINTS
Key Point
- ปี 2566-2571 ตลาดค้าปลีกโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.9% ต่อปี
- เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของมูลค่าตลาดค้าปลีกสูงสุดในโลก
- ตลาดค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 4.8% ต่อปี
- แรงงานในธุรกิจค้าปลีกมีจำนวน 2,892,932 ราย
- ธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง และก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นวงกว้าง
ธุรกิจค้าปลีกไทย หรือ โมเดิร์นเทรน เป็นธุรกิจที่บทบาทสำคัญต่อ เศรษฐกิจไทย เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย และมีการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ศึกษาถึงสถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีก
โดยในปี 2566-2571 ตลาดค้าปลีกโลก มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.9% ต่อปี โดยในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 18.16 ล้านล้านดอลลาร์ ฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยประมาณ 1% แบ่งเป็นค้าปลีกแบบซื้อขายหน้าร้านค้า (ออฟไลน์) ประมาณ 14.18 ล้านล้านดอลลาร์ และซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ประมาณ 3.98 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการขายผ่านช่องทางออนไลน์ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของมูลค่าตลาดค้าปลีกสูงสุดในโลก คิดเป็น 37 % ของการค้าปลีกทั่วโลก โดยคาดว่า ในช่วงปี 2566-2571 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ตลาดค้าปลีกที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตมากที่สุดในโลกในช่วงปี 2566-2571 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ เม็กซิโก บราซิล อินโดนีเซีย และ เวียดนาม
ที่มา : สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกของไทย พบว่าในปี 2566-2571 ตลาดค้าปลีกไทย มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 4.8% ต่อปี โดยในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 4.32 ล้านล้านบาทเติบโตจากปีก่อนหน้า 7.3 % แบ่งเป็นค้าปลีกแบบซื้อขายหน้าร้านค้า (ออฟไลน์) ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 6.0 % และซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ประมาณ 9.24 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 12.6 %
ในปี 2566 ธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์ มีมูลค่า GDP อยู่ที่ 2,807,891 ล้านบาท(ณ ราคาปัจจุบัน) มีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ของสาขาธุรกิจบริการทั้งหมด คิดเป็น 25.69 % ของมูลค่า GDPภาคบริการ และคิดเป็นสัดส่วน 15.71 % ของ GDP ของไทย มีจำนวนนิติบุคคลในธุรกิจค้าปลีกอยู่ที่ 120,862 ราย
โดยในแง่ของการจ้างงาน มีแรงงานในธุรกิจค้าปลีกจำนวน 2,892,932 ราย คิดเป็น13.56 % ของจำนวนแรงงาน ในธุรกิจสาขาบริการ และคิดเป็นสัดส่วน 7.25 % ของจำนวนแรงงานในทุกสาขาของทั้งประเทศ จะเห็นว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง และก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นวงกว้าง
หากจัดกลุ่มธุรกิจขายปลีกของไทย โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบรายได้รวมระหว่างปี 2565 และ 2566และ กำไร (ขาดทุน) สุทธิ ในปี 2566 เทียบกับกำไร (ขาดทุน) สุทธิ ในปี 2565 พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจขายปลีก ออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่ม 1 กลุ่มธุรกิจขายปลีกดาวเด่น คือกลุ่มธุรกิจที่ในปี 2566 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกเครื่องมือสารสนเทศและการสื่อสารในร้านเฉพาะ
2. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าเฉพาะ
3.กลุ่มธุรกิจการขายปลีกบนแผงลอยและตลาด
4. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกสินค้าทางวัฒนธรรมและนันทนาการในร้านค้าเฉพาะ
กลุ่ม 2 กลุ่มธุรกิจขายปลีกมีศักยภาพ คือกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้รวมเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 แต่มีกำไรสุทธิลดลง ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกในร้านค้าทั่วไป
2. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต
กลุ่ม 3 กลุ่มธุรกิจขายปลีกที่ต้องพัฒนา คือกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้รวมลดลง และมีกำไรสุทธิลดลง ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น ในปี 2566 ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจการขายปลีกอาหารและเครื่องดื่มในร้านค้าเฉพาะ
2. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านค้าเฉพาะ สถานี ปั๊ม
3. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกเครื่องใช้อื่นๆ ในครัวเรือนในร้านค้าเฉพาะ
4. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกสินค้ามือสองในร้านค้าเฉพาะ
5. กลุ่มธุรกิจการขายปลีกที่ไม่ได้กระทำในร้านค้า แผงลอยหรือตลาด
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสนค.กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทั้งจากผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและหลากหลายของสินค้า รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ