กรมการค้าภายใน เดินหน้าดูแลสินค้าเกษตร ค่าครองชีพประชาชน
อธิบดีกรมการค้าภายใน แถลงผลงานครบรอบ 70 วัน ลดค่าครองชีพกว่า 15,000 ล้านบาท เดินหน้าดูแลสินค้าเกษตร พืชเศรษฐกิจค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ พร้อมปรับภาพลักษณ์การทำงานของกรม
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ภายหลังรับตำแหน่ง ตนได้มีกรมได้มีการประชุมคณะกรรมการรายสินค้า ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม และสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อกำหนดกรอบนโยบาย แผนงานและมาตรการการบริหารจัดการ รวมทั้งให้การช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร อาทิ การพัฒนาคุณภาพ ลดต้นทุน
โดยในส่วนของข้าว ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การซื้อขายข้าวและหารือรับฟังปัญหาจากเกษตรกรในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และได้มีการจัดโครงการส่งเสริมศักยภาพการตลาดข้าวกลุ่มเกษตรกร พร้อมดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกโดยเก็บไว้ที่ยุ้งฉาง
นอกจากนี้ จะยกระดับคือการปรับปรุงกฎหมายการค้าข้าว เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการรายเล็กที่จะสามารถช่วยนำพาเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็ง พัฒนายั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น กรมฯ จึงได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายการค้าข้าว ให้มีการลดขั้นตอน ภาระในการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวประเภทส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้ามาเป็นผู้ส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น
ส่วนมันสำปะหลัง ได้ประชุมหารือติดตามสถานการณ์การผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ สมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง พร้อมดันมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68 มาตรการกำกับดูแลการรับซื้อ การขยายตลาดส่งออกมันเส้นและแป้งมัน
ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะยึดมาตรการรับซื้อผลผลิตในประเทศให้หมดก่อน รวมถึงการใช้มันสำปะหลังและปลายข้าวทดแทนการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรในประเทศ รวมทั้งเข้มงวดการ ขนย้าย การลักลอบ สินค้าเกษตรผ่านแดน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการรับซื้อสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า รวมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ ด่านตรวจศุลกากร ตรวจติดตามการนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแนวเขตพื้นที่ชายแดน
ด้านปาล์มน้ำมัน ได้มีการติดตามสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันเป็นประจำทุกวัน ทั้งผลผลิตและสกัด จนถึงการนำไปทำเป็นน้ำมันปาล์มขวด รวมทั้งขอความร่วมมือชะลอการส่งออก การเข้าดูแลโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้า ไม่ให้มีการปรับราคาจำหน่าย (สต๊อกเก่า) และผลักดันการใช้น้ำมันถั่วเหลือง สำหรับกลุ่มผู้ใช้ในครัวเรือนให้ใช้น้ำมันถั่วเหลืองสลับกับน้ำมันปาล์มในช่วงที่ผลผลิตออกมาน้อย
ส่วนสินค้าเกษตรที่กำลังจะมีผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วง 1-3 เดือนนี้ คือ หอมแดง ได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมแผนก่อนช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วง ม.ค. - มี.ค. โดยเชื่อมโยงเจรจาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ผ่านสัญญาข้อตกลงมาตรฐาน รวมทั้งรับซื้อและกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต
นายวิทยากร กล่าวว่า ด้านการลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล ร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ ห้างสรรพสินค้าลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าบริการ กว่า 70%
นอกจากนี้จัดโปรโมชั่นจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้า ร้านชุมชน กว่า 140,000 ร้านค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ 14,400 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเทศกาลอย่างกินเจ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรม “เทศกาลกินเจ อิ่มบุญราคาประหยัด” จับมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ลดราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลกินเจ มาจำหน่ายให้กับประชาชน สามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน 750 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม 2,250 ล้านบาท
ส่วนแผนการลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป คือ “พาณิชย์ลดราคา New Year Maga Sale 2025” ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มพิเศษทั่วประเทศข้ามปีในเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ ธ.ค. 67-ม.ค. 68 รวม 46 วัน โดยระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค. 67 จะเปิดตัวที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกระตุ้นกำลังซื้อให้ประชาชน
ในส่วนของนโยบายฟื้นฟูหลังอุทกภัยของรัฐบาล กรมฯ ได้จัดงานจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด “ธงฟ้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย และ “ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ และนำสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัด กว่า 500-1,000 รายการ ลดสูงสุด 60% พร้อมจัดถุงยังชีพส่งลงพื้นที่น้ำท่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย
รวมทั้งประสานงานไปยังห้างค้าปลีกค้าส่งให้เตรียมสต๊อกสินค้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าซ่อมแซมบ้าน สินค้าทำความสะอาดบ้านเรือน ให้มีจำหน่ายอย่างเพียงพอ ไม่ให้ของขาด ไม่ให้แพง และไม่ให้มีการกักตุนสินค้า ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือขายสูงเกินสมควร ในช่วงวิกฤติที่จะเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย
นอกจากนี้กรมจะมีการปรับภาพลักษณ์การทำงานของกรม ได้แก่ การ Rebranding ธงฟ้า ส่งเสริมให้ผู้บริโภคฉลาดเลือก ฉลาดซื้อประหยัดใช้ ยกระดับมาตรฐานงานชั่งตวงวัดให้เป็นสากล โดยพัฒนามาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ อาทิ สหพันธรัฐเยอรมัน เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในการใช้มาตรฐานเดียวกันกับของไทยต่อไป
ด้านการตรวจสอบ จะแต่งตั้งหน่วยตรวจ (Outsources) ให้ภาคเอกชนดำเนินการตรวจสอบให้คำรับรองแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อลดระยะเวลาในการรอคิวตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้งให้การกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัดมีความทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยตรวจที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว 5 บริษัท
รวมทั้งจะขยายขอบเขตการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด จากปัจจุบันที่มีการกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด 45 ชนิด ให้เพิ่มเติมอีก 6 ชนิด ประกอบด้วย มาตรวัดไฟฟ้า แท็กซี่มิเตอร์ EV Charger เครื่องวัดลมยางรถยนต์ เครื่องวัดความเร็วรถยนต์ และเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ