ปี 2568 'แลนด์บริดจ์' ยังไปต่อ 'คมนาคม' มั่นใจต่างชาติร่วมประมูล
“คมนาคม” ประกาศปี 2568 เดินหน้าผลักดันการลงทุนเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้านบาท ระบุสถานะปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนจัดทำกฎหมาย SEC พร้อมร่างเอกสารประกวดราคา มั่นใจต่างชาติตบเท้าร่วมประมูล ทั้งกลุ่มดูไบ จีน และญี่ปุ่น
KEY
POINTS
- "คมนาคม" ประกาศปี 2568 เดินหน้าผลักดันการลงทุนเมกะโปรเจกต์ "แลนด์บริดจ์" 1 ล้านล้านบาท ระบุสถานะปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนจัดทำกฎหมาย SEC พร้อมร่างเอกสารประกวดราคา
- "สุริยะ" มั่นใจต่างชาติตบเท้าร่วมประมูล ทั้งกลุ่มดูไบ จีน และญี่ปุ่น จากสัญญาณบวกในช่วงโรดโชว์ นักลงทุนสนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการ
- เร่งจัดทำเอกสารประกวดราคา ตั้งเป้าคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/2568 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในปี 2568 คาดสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 2569
การพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์) มูลค่าลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568 หลังจากตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมเดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ Dubai Port World (DP World) ประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า ตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงฯ เดินทางไปโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก และตอนนี้ก็มีต่างชาติแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการ ขั้นตอนระหว่างนี้จึงอยู่ในช่วงของการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะมาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC คล้ายกับ EEC
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จัดการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.SEC และรายละเอียดของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ พร้อมทั้งเตรียมจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ต่อไป
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะจะมีการจัดทำ พ.ร.บ.SEC ข้อกำหนดกฎหมายที่ชัดเจน และกระทรวงฯ จะทำควบคู่ไปกับการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) เพื่อให้มีความพร้อมในการเปิดประมูลทันทีหลังจากที่กฎหมายต่างๆ ผ่านการพิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก และเข้าร่วมการประมูลโครงการนี้ เพราะสัญญาณบวกในช่วงโรดโชว์ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการ อาทิ กลุ่มดูไบ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนก็เห็นพร้อมกันว่าโครงการนี้มีศักยภาพ เห็นด้วยกับแผนพัฒนาและรายละเอียดโครงการที่ศึกษาไว้
สำหรับแผนดำเนินงานของโครงการแลนด์บริดจ์ เดิมประเมินว่า พ.ร.บ. SEC และการจัดตั้งสำนักงาน SEC จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2568 ส่วนออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จปี 2568
โดยการดำเนินงานส่วนนี้จะสอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน โดยตั้งเป้าจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/2568 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในปี 2568
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 2569 ขณะที่การก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573 ระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างปี 2574 แล้วเสร็จปลายปี 2577 และระยะที่ 3 เริ่มก่อสร้างปี 2578 แล้วเสร็จปลายปี 2579
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
อีกถึงรายงานของ สนข. ยังพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี พร้อมทั้ง จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง