‘ศิริกัญญา’ นิยามเศรษฐกิจปี 68 ‘คลื่นลมแรง’ เรือเล็กงดออกจากฝั่ง
“ศิริกัญญา” มองปี 68 เผชิญความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจขาดแรงขับเคลื่อน ระบุท่องเที่ยว ใช้จ่ายรัฐกลับสู่จุดสมดุล ห่วงนโยบายกำแพงภาษีทำการค้าโลกหดตัว จี้รัฐบาลเร่งออกนโยบายเชิงรุกแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว ชงเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษีลดขาดดุลการคลัง
KEY
POINTS
- "ศิริกัญญา" มองแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มอ่อนกำลังลงในปี 2568 ทั้ง "ส่งออก-ท่องเที่ยว-ใช้จ่ายภาครัฐ"
- ภาคส่งออกต้องเตรียมรับมือ นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่อาจนำไปสู่สงครามการค้าครั้งใหม่ ซึ่งประชาชนเสี่ยงบาดเจ็บจากสงครามการค้าครั้งนี้ด้วย
- บทบาทของภาครัฐจำเป็นต้องเร่งออกนโยบายเชิงรุกเพื่อรับมืแหลายปัญหารุมเร้า
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ “กรุงเทพธุรกิจ Deep Talk” โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2568 รวมทั้งข้อเสนอแนะการดำเนินนโยบายการคลัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เผชิญกับปัญหารุมเร้าในหลายๆ เรื่อง แต่โชคดีที่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 และ 4 ที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ด้วยแรงส่งจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการเร่งรัดเบิกจ่ายภาครัฐช่วงไตรมาสสุดท้ายหลังติดขัดปัญหางบประมาณล่าช้า ซึ่งทำให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวกว่า 26%
ดังนั้นสรุปในภาพรวมแล้ว GDP ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.6-2.7% ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ดีมาก แต่ก็เป็นการเติบโตท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนหลายเรื่องและใกล้เคียงกับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Potential Output Growth) ของประเทศ
ขณะที่เศรษฐกิจในปี 2568 กลับยิ่งมีความน่ากังวลในหลายเรื่อง เนื่องจากตัวช่วยที่คอยผยุงเศรษฐกิจในปี 2567 จะไม่สามารถทำได้ดีอีกต่อไป ประกอบไปด้วย “การส่งออก” ที่กำลังเผชิญกับความผันผวนสูง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งช่วงเวลานี้ยังคงเป็นช่วงฝุ่นตลบ ที่หลายฝ่ายมีการคาดการณ์กันไปต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือ โดยหลายบริษัทเริ่มมีการกักตุนสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนภาษีนำเข้า
กำแพงภาษีฉุดการค้าโลก
ทั้งนี้ เชื่อว่าการค้าโลกจะยังมีความผันผวนสูง และจะคลี่คลายลงเมื่อมีความชัดเจนเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค.2568 และประกาศนโยบายภาษีอย่างจริงจัง ซึ่งคาดว่านโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี
“ถึงตอนนั้นเราคงได้เห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าใครจะโดนก่อน เราจะโดนเมื่อไหร่ แล้วเราจะโดนเท่าไหร่ แต่ตอนนี้การคาดการณ์ในอนาคตยังเป็นไปได้ยาก ซึ่งมีแนวโน้มว่าการค้าโลกจะหดตัวเมื่อเจอกับมาตรการกำแพงภาษี ดังนั้นการส่งออกที่คิดว่าจะกลับมาดี ก็คงจะไม่สามารถเป็นแรงส่งได้มากอีกต่อไป”
ที่ผ่านมา นโยบายทรัมป์ 1.0 มีการประกาศนโยบายขึ้นกำแพงภาษีเช่นกัน แต่ที่บังคับใช้จริงก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่เคยพูด ซึ่งในรอบนี้นโยบายทรัมป์ 2.0 ก็ประกาศขึ้นกำแพงภาษีอีกครั้ง สูงสุดถึง 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน แม็กซิโก และแคนาดา ส่วนประเทศอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น 10-20%
ทั้งนี้แม้ว่าอัตราภาษีนำเข้าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ประกาศไว้ แต่การขึ้นภาษีจะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งหากสหรัฐฯ เปิดทางให้เจรจา ไทยก็ควรฉกฉวยโอกาสนั้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เตรียมเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐฯ ในเดือนก.พ.2568 เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แม้ว่าไทยอาจมีข้อต่อรองไม่มากนัก
กระแสย้ายฐานทุนระรอกใหม่
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สงครามการค้าในยุคทรัมป์ 1.0 ยอมรับว่าไทยได้รับอานิสงค์จากกระแสย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตามในรอบนี้มองว่ามีความต่างกัน เนื่องจากเป้าหมายสุดท้ายของทรัมป์ที่ยังทำไม่สำเร็จคือการดึงฐานการผลิตกลับเข้ามาในประเทศ (Reshoring)
ดังนั้นแม้บริษัทจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนก็จะยังคงเจอกับมาตรการตอบโต้ในภายหลัง อาทิ กรณีโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากจีนที่ย้ายเข้ามาผลิตในไทยที่โดนสอบสวนว่ามีการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และถูกชาร์จภาษีถึง 22%
ท่องเที่ยว-ใช้จ่ายรัฐ กลับจุดสมดุล
นอกจากนี้ “การท่องเที่ยว” ในปีหน้าก็จะไม่ได้เป็นแรงฉุดเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับเข้าสู่จุดสมดุลก่อนสถานการณ์โควิด ที่จำนวน 39 ล้านคน ขณะที่ในปี 67 นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้ถึง 35 ล้านคนแล้ว ดังนั้นตัวเลขการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวก็จะไม่หวือหวามากนัก
เช่นเดียวกับ “การใช้จ่ายภาครัฐ” ที่จะเป็นไปตามปีงบประมาณปกติ ซึ่งอาจจะติดลบในบางไตรมาส เนื่องจากในปีก่อนหน้ามีการเร่งรัดเบิกจ่ายค่อนข้างมากจากการอนุมัติงบประมาณล่าช้า
ขณะที่ “การบริโภค” เป็นอีกตัวหนึ่งที่มองว่าไม่ค่อยสู้ดี ไม่เหมือนกับปี 2567 ที่ในช่วงไตรมาสแรก การบริโภคขยายตัวถึง 7% และลดลงมาตามลำดับ ขณะที่ปี 2568 คาดว่าการบริโภคจะเติบโตเฉลี่ยที่ 3-4% ดังนั้นการบริโภคจึงไม่ใช่แรงฉุดที่จะทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าเดินหน้าได้
นิยามปี 68 คลื่นลมแรง เรือเล็กงดออกจากฝั่ง
นางสาวศิริกัญญา ให้นิยามเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า ความผันผวนที่มากขนาดนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นช่วงคลื่นลมแรง เรือเล็กงดออกจากฝั่ง ต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการใช้ชีวิตด้วย
โดยที่ต้องระวังคือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ด้วยภาคการผลิตของไทยที่ยังอ่อนแรง ซึ่งทำให้บางคนอาจประสบปัญหาถูกลดโอที ลดชั่วโมงการทำงาน ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงในขณะที่รายจ่าย ค่าครองชีพยังคงไม่ลดลง
ในส่วนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะส่งออก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนที่ส่งออกไปสหรัฐโดยตรง แต่ความผันผวนทางการค้าที่เกิดขึ้นก็น่าจะกระจายตัวเป็นวงกว้าง ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่รู้ว่าแต่ละประเทศจะงัดเครื่องมืออะไรออกมาต่อสู้กัน ซึ่งหากเป็นการขึ้นกำแพงภาษีระหว่างกันก็เชื่อว่าประชาชนจะบาดเจ็บจากการทำสงครามครั้งนี้แน่นอน
ชงรัฐบาลเดินหน้านโยบายเชิงรุก
“ปี 68 เต็มไปด้วยความผันผวนและความไม่แน่นอน ขณะที่ตัวช่วยสำคัญในปี 67 กลับเริ่มอ่อนกำลังลงทีละตัว ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตได้ตามศักยภาพ หรือเพิ่มศักยภาพเพื่อให้เศรษฐกิจโตได้มากกว่านี้ ซึ่งเรายังเฝ้ารอว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาหลังจากนี้”
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยที่สุดคือการทำงานของรัฐบาล หรือ ผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ที่ยังคงดำเนินนโยบายในเชิงตั้งรับเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่เห็นโยบายเชิงรุกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในการแก้หลายปัญหาที่รุมเร้า อีกทั้งนโยบายต่างๆ ที่เคยได้ประกาศไว้ยังกินระยะเวลานานกว่าที่มีผลบังคับใช้จริง อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ปัญหาการพัฒนาทักษะแรงงาน
ถึงเวลาไทยปฏิรูปโครงสร้างภาษี
นางสาวศิริกัญญา กล่าวถึงประเด็นภาษีที่กำลังถูกพูดถึงว่า ประเทศไทยจัดเก็บรายได้รัฐหรือการจัดเก็บภาษีได้น้อย และลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันรายได้รัฐมีสัดส่วนเพียง 14% ของ GDP ซึ่งน่ากังวล เพราะหลังจากนี้นโยบายทางการคลังจะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้น
ซึ่งแปลว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่ว่ารายได้ที่จัดเก็บกลับน้อยลง การปฏิรูปโครงสร้างภาษีจึงมีความจำเป็นเพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีความเป็นธรรม และกระจายการรับภาระภาษีได้มากขึ้น