‘คลัง‘ เปิดผลลัพธ์แจกเงิน 10,000 ดัน 3 ดัชนีเชื่อมั่นพุ่ง

‘คลัง‘ เปิดผลลัพธ์แจกเงิน 10,000 ดัน 3 ดัชนีเชื่อมั่นพุ่ง

“เผ่าภูมิ” ระบุผลลัพธ์แจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรก กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ดัน 3 ดัชนีความเชื่อมั่นขยายตัว รับการบริโภคพุ่ง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เดือนตุลาคม 2567 และพฤศจิกายน 2567 ดีขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนพิการ 14.55 ล้านคน ที่ดำเนินตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา

 

สะท้อนผ่านดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ดัชนี ดังนี้

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confident Index: CCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือน จาก 55.3 จุด ในเดือนกันยายน 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 56.0 จุด ในเดือนตุลาคม 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 56.9 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises Sentiment Index: SMESI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน จาก 49.6 จุด เพิ่มขึ้นเป็น 52.2 จุด ในเดือนตุลาคม 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 53.0 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการเพิ่มกำลังซื้อในตลาด

3. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industrial Sentiment Index: TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 87.1 จุด เป็น 89.1 จุด ในเดือนตุลาคม 2567 จากการผลิตและยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี ที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวและตอบสนองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันและภาคการเกษตร

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ที่ปรับตัวขึ้นทั้ง 3 ดัชนี ข้างต้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการตอบสนองที่ดีต่อ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงความคาดหวังในทิศทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะการปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศในระยะต่อไป