‘เอกชน’ เร่ง ‘คลัง’ ลดภาษีเงินได้ 15% หนุนธุรกิจเพิ่มลงทุน - จ้างงาน

"หอการค้า" หนุนเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ชี้ ได้ประโยชน์ ทั้งบริษัทในไทย เสียภาษีต่ำลดต้นทุน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ส.อ.ท.ชี้ ไม่ขัดเก็บภาษีเงินได้ 2 อัตรา เก็บภาษีนิติบุคคลต่างชาติ 15% ช่วยดึงนักลงทุนที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ประเทศ “สิงคโปร์” ที่ปัจจุบันเก็บ 17%
คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามแนวทาง Global minimum tax ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่กำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 750 ล้านยูโร จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15%
สำหรับร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2568 ซึ่งจะทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.ก.เสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% ส่วนบริษัททั่วไปเสียอัตราปกติ 20%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ไทยจะพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน ตามที่หอการค้าไทย เคยเสนอให้ดึงดูด expat ที่เก่งๆ เข้ามาให้มากที่สุด รวมถึงเร่งการลงทุนจากต่างประเทศนั้นจำเป็นต้องสร้างแต้มต่อทางด้านภาษี และผลประโยชน์ทางธุรกิจ
ทั้งนี้ หอการค้าฯ เห็นด้วยที่ควรจะมีการลดภาษีนิติบุคคลให้ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ OECD ภายใต้แนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ ในอัตรา 15% ถือเป็นหลักการที่ทั่วโลกรับรู้ร่วมกัน และมีการประกาศการใช้กฎหมายไปแล้วกว่า 20-30 ประเทศ
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่เหมาะสมที่ไทยจะขยับภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 15% ซึ่งส่วนนี้จะได้ประโยชน์ถึง 2 อย่าง คือ
1.ภาคธุรกิจภายในที่เสียภาษีต่ำ จะจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ และมีต้นทุนต่ำทำให้สามารถควบคุมการขึ้นราคาสินค้าให้ไม่สูงมากจนเกินไป ส่งผลให้เงินเฟ้อต่ำ
2.ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ เชื่อว่าหากรัฐบาลมีความชัดเจนแล้วก็น่าจะสร้างความน่าสนใจ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติได้มาก ซึ่งจะประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
“เม็ดเงินที่หายไปจากการลดภาษี เชื่อว่าจะมีการลงทุนมากขึ้น และหากประเทศไทย สามารถ นำบริษัทต่างๆ ที่อยู่นอกระบบภาษี มาเข้าสู่ระบบได้ก็จะเป็นการเสริมในส่วนนี้ด้วย”นายสนั่น กล่าว
ส.อ.ท.ไม่ขัดเก็บภาษีเงินได้ 2 อัตรา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคลต่างชาติที่วางไว้ 15% ส่วนตัวมองว่าตรงกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อให้ไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานภูมิภาค ดังนั้น แนวคิดดึงบริษัทใหญ่ที่มีสำนักงานภูมิภาคในสิงคโปร์จึงน่าสนใจ
นอกจากนี้ เมื่อนักลงทุนเหล่านี้ย้ายเข้ามาจะเกิดการจ้างงาน และลงทุนขึ้น เพราะสิงคโปร์มีค่าครองชีพแพงกว่าไทยหลายเท่าทั้งที่ดิน ค่าเช่าสำนักงาน และค่าแรง ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานครบ รวมถึงศูนย์กลางการเงิน และที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติมากที่สุด รวมถึงได้สิทธิประโยชน์มากกว่าที่อื่น เช่น ภาษีบุคคลธรรม 17% ซึ่งถูกมากกว่าประเทศอื่น
ส่วนกรณีภาษีนิติบุคคลไทยจัดเก็บที่ 20% หากจะดูลึกลงไปจะจัดเก็บ 2 อัตราได้ อยู่ที่นโยบายรัฐบาล เหมือนการสนับสนุนของ BOI หรือมาตรการการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือแม้แต่มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ยกเว้นภาษี 5-13 ปีจุดนี้จึงเป็นนโยบายดึงดูดการลงทุนเช่นเดียวกัน แต่ต้องมีเงื่อนไขประกอบด้วย
“สิงคโปร์เจริญ และได้เปรียบการเก็บที่ 17% ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ไทยอาจดึงข้อได้เปรียบด้านเมือง การท่องเที่ยว ค่าเช่าค่าครองชีพ และแรงงานถูกมาดึงดูด เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนกลุ่มนี้ที่นั่งทำงานที่สำนักงานสิงคโปร์ ส่วนมากจะเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนในไทยช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แล้วต้องกลับไปทำงานที่สิงคโปร์ จึงควรดึงมาประจำที่ไทยเลย และไทยจะได้ผลพลอยได้ตามมาอีกจำนวนมาก”
ทั้งนี้ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของประเทศไทยตามกฎหมายอยู่ที่ 10% เป็นมาตลอด 20 ปีแล้ว แต่ไม่มีใครเก็บได้จริง เมื่อจะเก็บหลายคนบอกว่าจะทำให้สินค้าราคาพุ่ง ดันเงินเฟ้อเพิ่ม ประชาชนแบกภาระไม่ไหว จึงเป็นการเก็บชั่วคราวทุกปี ราว 7% ก่อน และทบทวนปีต่อปี ซึ่งตอนนี้ก็ต่ออัตราการเก็บมาตลอด
เตรียมมาตรการดึงลงทุนที่ไม่ใช่ภาษี
รายงานข่าวระบุว่า BOI ได้พิจารณาแนวทางที่ไทยใช้ในการดูแลนักลงทุน และไม่ขัดกับเกณฑ์ของ OECD คือ การให้เงินสนับสนุนโดยใช้เงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมไปสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศไทย
ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การลดต้นทุน และการวิจัยหรือพัฒนา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในภาพรวมด้วย
ก่อนหน้านี้ OECD ได้มีการประเมินผลกระทบจากการจัดเก็บ Global minimum tax ต่อบริษัทข้ามชาติไว้ 4 ประเด็นดังนี้
1.กำไรของธุรกิจที่เคยเสียภาษีต่ำเกินไปจะลดลง 80% จากเดิมที่มีสัดส่วน 36% ของกำไรธุรกิจทั่วโลก เหลือเพียง 7% เป็นผลจากการโยกย้ายผลกำไรไปประเทศอื่นที่ลดลง และการจัดเก็บภาษีส่วนต่างเพิ่มขึ้น
2.การโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศจะลดลงครึ่งหนึ่งส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทข้ามชาติจะยังอยู่ในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศที่เป็นฐานการลงทุน ผลประเมินพบว่าการโยกย้ายผลกำไรจากประเทศอื่นมาลงทุนที่ลดลงไป จะทำให้รายได้ภาษีของประเทศหายไปราว 30%
3.ความแตกต่างของอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจระหว่างประเทศจะลดลง 30%โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างประเทศที่เป็นและไม่เป็นฐานการลงทุน ดังนั้น ปัจจัยที่ไม่ใช่ภาษีจะถูกนำมาพิจารณามากขึ้นในการตัดสินใจโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ ช่วยให้การกระจายจัดสรรทรัพยากรเงินทุนในโลกดีขึ้น
4.ภาษีเงินได้ธุรกิจในโลกโดยสุทธิจะเพิ่มขึ้น 6.5-8.1% จากการจัดเก็บภาษีส่วนต่างและการโยกผลกำไรไปประเทศอื่นลดลง หรือคิดเป็นมูลค่า 155-192 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์