'คมนาคม' เข็น 2.8แสนล้าน ประมูลปี 68 โครงข่ายรถไฟทางคู่เฟส 2 ครบ 7 เส้นทาง

'คมนาคม' เข็น 2.8แสนล้าน ประมูลปี 68 โครงข่ายรถไฟทางคู่เฟส 2 ครบ 7 เส้นทาง

“คมนาคม” ประกาศปี 2568 เร่งประมูลรถไฟทางคู่ เฟส 2 ครบ 7 เส้นทางหวังดันเม็ดเงินการลงทุนลงระบบเศรษฐกิจมากกว่า 2.8 แสนล้านบาท ด้านการรถไฟฯ ตั้งเป้าผลักดันต่อเนื่องไตรมาสละ 2 เส้นทาง หลังประเดิมลงนามช่วงขอนแก่น - หนองคาย ส่งมอบพื้นที่เริ่มก่อสร้าง เม.ย.2568

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2568 กระทรวงฯ จะผลักดันการลงทุนระบบขนส่งทางรางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งมีแผนลงทุนทั้งหมด 7 เส้นทาง ขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มเติมอีก 1,488 กิโลเมตร

อย่างไรก็ดี แผนพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 นั้น ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้ว 1 เส้นทาง คือ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดประมูล จนนำมาสู่การลงนามสัญญาจ้างร่วมกับเอกชน พร้อมจะมีการเร่งรัดงานก่อสร้างให้เกิดขึ้นในปี 2568

ผลักดันต่ออีก 6 โครงการในธ.ค.นี้ 

ส่วนอีก 6 โครงการที่เหลือนั้น ปัจจุบันได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว สถานะอยู่ระหว่างรอความคิดเห็นจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.คาดว่าจะได้ความคิดเห็นจากทั้ง 2 หน่วยงาน ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นเมื่อความเห็นจากทุกหน่วยงานครบ กระทรวงฯ ก็จะเร่งดำเนินการเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ

“คาดว่าในเดือน ม.ค.ปีหน้า เมื่อมีความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบครบแล้ว กระทรวงฯ ก็จะเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม.เห็นชอบทั้ง 6 เส้นทางที่เหลือ หลังจากนั้นการรถไฟฯ ก็จะนำไปจัดทำเอกสารประกวดราคาแต่ละโครงการ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันการลงทุนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ครบตามแผนทั้งหมดภายในปีหน้า”

\'คมนาคม\' เข็น 2.8แสนล้าน ประมูลปี 68 โครงข่ายรถไฟทางคู่เฟส 2 ครบ 7 เส้นทาง

ดันต่อไฮสปีดไทย - จีนระยะที่ 2 

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า นอกจากเร่งรัดการลงทุนรถไฟทางคู่แล้ว ในปี 2568 กระทรวงฯ จะผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงการคลัง และ สศช. พิจารณาภายใน 1-2 เดือน ก่อนเสนอ ครม. เห็นชอบ และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2568

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท.จะเร่งเปิดประกวดราคาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ให้ครบ 7 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบราง ขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มเติมอีก 1,488 กิโลเมตร โดยคาดว่าในเดือน ม.ค.2568 จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบดำเนินการประกวดราคารถไฟทางคู่ทั้ง 6 เส้นทาง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมเอกสารประกวดราคา (TOR)

ทั้งนี้ โดยปัจจุบัน รฟท.ได้ลงนามสัญญาในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น – หนองคาย กับกิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง มูลค่าโครงการ 28,679 ล้านบาท หลังจากโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 และ รฟท.ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้ายื่นเอกสารทั้งสิ้น จำนวน 4 ราย พบว่า กิจการร่วมค้า ช.ทวี - เอเอส ก่อสร้าง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด

รฟท.คาดลงนามเงินกู้ปลายเดือน ก.พ.68

โดยภายหลังการลงนามสัญญาครั้งนี้ รฟท.จะเร่งประสานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้นำมาดำเนินโครงการนี้ เบื้องต้นประเมินว่าจะสามารถลงนามสัญญาเงินกู้ได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมเอกสารอนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) จึงคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่และให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือน เม.ย.2568 โดยใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี แล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2571

นายวีริศ กล่าวต่อว่า แผนดำเนินงานสำหรับรถไฟทางคู่อีก 6 เส้นทาง รฟท.ประเมินเบื้องต้นว่าหลังจากเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบในเดือน ม.ค.2568 จากนั้น รฟท.จะเตรียมเอกสารประกวดราคา โดยใช้เวลาราว 3 เดือน เบื้องต้นจึงจะได้เห็นการประกวดราคารถไฟทางคู่เส้นทางที่เหลือในเดือน เม.ย.2568 เป็นต้นไป โดยจะทยอยเปิดประมูลทีละ 2 โครงการ หลังจากนั้นจะเว้นช่วงดำเนินการเตรียมเอกสารอีก 2 เดือน เพื่อเปิดประมูลครั้งต่อไป

คิวต่อไปประมูลช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย

สำหรับ โครงการรถไฟทางคู่ที่คาดว่าจะนำมาเปิดประมูลหลังจากนี้ จะแบ่งเป็น ส่วนแรก คือ รถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ - เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 81,143 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 44,103 ล้านบาท

ส่วนที่สอง คือ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 30,422 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 66,270 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 7,900 ล้านบาท และส่วนสุดท้าย คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 68,222 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า ระบบรางถือเป็นภาคการขนส่งที่สำคัญของไทย ทั้งในภาคการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมส่งเสริม และสนับสนุนการลงทุนพัฒนาระบบรางให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในการดำเนินงานโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางราง

โดย รฟท. มีโครงการสำคัญที่ต้องเร่งรัดลงทุนเพื่อตอบสนองเป้าหมายดังกล่าว ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และรถไฟสายใหม่ ซึ่งหากพัฒนาแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง การขนส่ง และภาคโลจิสติกส์ของประเทศให้ครอบคลุมระดับภูมิภาค รวม 27 เส้นทาง นับเป็นระยะทางกว่า 4,548 กิโลเมตร ในพื้นที่ 64 จังหวัด