หอการค้า-ก.พ.ร.-กรมพัฒน์ ลุยเฟส 2 เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

หอการค้า-ก.พ.ร.-กรมพัฒน์ ลุยเฟส 2  เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

หอการค้า- กพร.- กรมพัฒน์ ลุยเฟส 2 เพิ่ม 12 หน่วยงานรัฐ เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เรียก ไม่เซ็นเอกสาร ลดภาระซ้ำซ้อน ย้ำประหยัดต้นทุนได้ รวมกว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี พร้อมเสนอ Sandbox เดินหน้าสู่ e-Government

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย  เปิดเผยว่า  หลังจากหอการค้าไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  (ก.พ.ร. ) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และ 10 หน่วยงานของรัฐบูรณานำร่องเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์  เพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจและประชาชน โดยไม่ต้องเรียกเอกสารและไม่ต้องเซ็นสำเนาอีกต่อไปทำให้ลดกระบวนงานเรียกเอกสารได้จำนวนมาก ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จระยะที่ 1 ของ"การไม่เรียกไม่เซ็นเอกสาร "ลดภาระต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัว ให้ธุรกิจและประชาชน  จึงได้ดำเนินการในระยะที่ 2  โดยร่วมกับหน่วยงานอีก 12 หน่วยงาน ทำให้ปัจจุบันเรามีถึง 22 หน่วยงานรัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและยกเลิกการเรียกเอกสารนิติบุคคลได้ ถือเป็นการยกระดับบริการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมทั้ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีแนวทางจะทำ Sandbox  ร่วมกับ กพร. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน จะเชิญสมาชิกฯ มาร่วมขับเคลื่อนแนวทางไม่เรียก ไม่เซ็นสำเนา ในทุกเอกสารและทุกกระบวนงาน ในลักษณะเอกชนต่อรัฐ หรือ Business to Government (B2G) นำร่องกระบวนงานสำคัญ เพื่อเป็น Quick Win ต้นแบบการอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนอย่างเข้มแข็ง เดินหน้าสู่ e-Government    แบบครบวงจร

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า  การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดภาระการขอเอกสารจากประชาชน ซึ่งจากความสำเร็จในระยะแรกของ 10 หน่วยงานรัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ขยายผลกับหน่วยงานอื่น ที่เหลือ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มที่มีความพร้อมยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2567         จำนวน 12 หน่วยงาน ซึ่งได้แถลงข่าวในครั้งนี้

2. กลุ่มที่ต้องมีการทบทวนกระบวนงานซึ่งสามารถยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้      ภายในเดือนธ.ค. 2568 จำนวน 25 หน่วยงาน

3. กลุ่มที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2569 จำนวน 27 หน่วยงาน

ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก 22 หน่วยงานรัฐ ที่ร่วมขับเคลื่อนการยกเลิกใช้เอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวม ได้กว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยการสนับสนุนของภาคเอกชน จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จตามแผนดังกล่าว ให้ครบทุกหน่วยงานภายในปี 2569 เพื่อพัฒนาระบบราชการให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาประเทศ              

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรร ม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการไทยจะดำเนินธุรกิจได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ต้องใช้เอกสารข้อมูลนิติบุคคลในการติดต่อราชการอีกต่อไป ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งหวังอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ความมุ่งมั่นในการยกระดับระบบราชการไปสู่ Digital Government และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การหารืออย่างใกล้ชิดจนสามารถประกาศไม่เรียกรับเอกสารนิติบุคคลเพิ่มอีก 12 หน่วยงาน ในวันนี้

สำหรับข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เชื่อมโยงให้กับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 7 ชุดข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลทะเบียนนิติบุคคล ข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น  ข้อมูลงบการเงิน ข้อมูลทะเบียนพาณิชย์ข้อมูลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ข้อมูลทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ และ ข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล

นางอรมน กล่าวว่า ภายหลังจากการประกาศยกเลิกการเรียกรับเอกสารนิติบุคคลของ 10 หน่วยงานภาครัฐชุดแรกไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. -30 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า 10 หน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการใช้บริการเอกสารจากระบบรวม 2.8 ล้านรายการ

โดยหน่วยงานที่มีสัดส่วนการใช้บริการสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมที่ดิน ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและการไม่เรียกเอกสารจากประชาชน สามารถอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนขอ ภาคธุรกิจและภาครัฐได้มาก

ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักงาน ก.พ.ร. พบว่า ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการมากกว่า  7 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนไปสู่ Digital Government และการอำนวยความสะดวกประชาชน