กทพ.ดึงร่วมทุน 30 ปี ทางด่วน 'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ' โกยรายได้ 7.2 หมื่นล้าน

กทพ.ดึงร่วมทุน 30 ปี ทางด่วน 'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ' โกยรายได้ 7.2 หมื่นล้าน

การทางพิเศษฯ เตรียมเสนอ ครม.ปีหน้า ประมูลทางด่วนสายใหม่ “ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ดึงเอกชนร่วมทุน 30 ปี คาดโกยรายได้ตลอดสัมปทาน 7.2 หมื่นล้านบาท เปิดอัตราจัดเก็บค่าผ่านทางเริ่มต้น 60 บาท

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า โครงการนี้เกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง และ กทพ. เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินโครงการสำเร็จ ลดข้อจำกัดการลงทุน ลดภาระงบประมาณของประเทศ ควบคู่การรักษาวินัยทางการเงินของประเทศ ส่งผลให้ กทพ.ศึกษาแนวทางในการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และได้มีการจัดเวทีเปิดให้เอกชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

สำหรับโครงการทางพิเศษสายนี้ ประเมินวงเงินการลงทุนรวม 20,701 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 19,136 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 840 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 725 ล้านบาท โดย กทพ.ประเมินว่าจะมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการ เท่ากับร้อยละ 14.04 และผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการ เท่ากับร้อยละ 5.86

กทพ.ดึงร่วมทุน 30 ปี ทางด่วน \'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ\' โกยรายได้ 7.2 หมื่นล้าน

ขณะที่รูปแบบการลงทุนจะเป็นเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) โดยรัฐจะรับผิดชอบงาน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนจะรับผิดชอบงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาของโครงการ รวมทั้งติดตั้งงานระบบทางพิเศษ รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และบริหารจัดการ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มในปี 2574 – 2603

นายวัชรพล วิเศษกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน กล่าวว่า กรอบระยะเวลาดำเนินโครงการคาดว่าจะเสนออนุมัติโครงการไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2568 และเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จภายในปี 2570 หลังจากนั้นจะเวนคืนที่ดินและจ่ายค่าชดเชยทรัพย์สิน ระหว่างปี 2569 – 2571 ก่อนก่อสร้างโครงการ ระหว่างปี 2571 – 2573 เพื่อเปิดบริการโครงการในปี 2574

อย่างไรก็ดี จากการศึกษารายละเอียดคาดการณ์ปริมาณจราจรและรายได้ เริ่มต้นปีแรกของการเปิดให้บริการ ประเมินว่าจะมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 68,909 คันต่อวัน และสร้างรายได้เฉลี่ย 4.35 ล้านบาทต่อวัน หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2604 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสัมปทาน จะมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 90,036 คันต่อวัน และมีรายได้เฉลี่ย 9.97 ล้านต่อวัน รวมตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี มีรายได้ 7.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ปีที่ 1 ของการเปิดให้บริการ หรือในปีงบประมาณ 2574 จะจัดเก็บเริ่มต้น 60 – 120 บาท หลังจากนั้นอัตราค่าผ่านทางจะปรับขึ้นทุกๆ 5 ปี ตามสมมติฐานของ CPI ที่ร้อยละ 2 ต่อปี (เมื่อโครงการเปิดให้บริการ อัตราค่าผ่านทางจะปรับขึ้นตาม CPI ที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลานั้น) โดยประมาณการณ์ในปีที่ 31 ปีงบประมาณ 2604 อัตราค่าผ่านทางจะเริ่มต้นอยู่ที่ 105 – 215 บาท

กทพ.ดึงร่วมทุน 30 ปี ทางด่วน \'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ\' โกยรายได้ 7.2 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการดังกล่าวมีแนวเส้นทางเป็นรูปแบบทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์

จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร ผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า

ก่อนจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ จากนั้นลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 15.8 กิโลเมตร

กทพ.ดึงร่วมทุน 30 ปี ทางด่วน \'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ\' โกยรายได้ 7.2 หมื่นล้าน

ทั้งนี้โครงการมีจุดเข้า-ออกโครงการ 3 จุด คือ 1. จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ 2. จุดเชื่อมต่อทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3. จุุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษตั้งอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก บริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า โดยจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเปิด แบบใช้พนักงาน (MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) ร่วมกัน

กทพ.ดึงร่วมทุน 30 ปี ทางด่วน \'ศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ\' โกยรายได้ 7.2 หมื่นล้าน