ความก้าวหน้าของ“นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์”เทคโนโลยีต่อยอดเกษตรมั่งคั่ง

ความก้าวหน้าของ“นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์”เทคโนโลยีต่อยอดเกษตรมั่งคั่ง

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย คาดจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศกว่า 190,000 ล้านบาท

เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 85,000 บาทต่อคนต่อปี มีการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรกว่า 800,000 ครัวเรือน และมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญสูงกว่า 20,000 ตำแหน่ง

โดยกลไกที่สำคัญซึ่งจะขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้น คือ  โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan BioComplex: NBC) มูลค่าการลงทุน 41,000 ล้านบาท อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการโดยบริษัทจีจีซี เคทิส 

ไบโออินดัส เทรียลจำกัด (GKBI) 

การดำเนินงานระยะที่ 1 ปี 2567  มูลค่า 7,500 ล้านบาท ได้ก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงงาน เอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และไอน้ำความดันสูง กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว

ส่วนโครงการระยะที่ 2 มูลค่า 21,430 ล้านบาท บริษัท Nature works LLC ได้ลงทุนโครงการโรงงานพลาสติกชีวภาพ PLA แห่งที่ 2 โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก

เมื่อเร็วๆนี้เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์  พร้อมระบุว่า ตามนโยบายภาครัฐได้ส่งเสริมมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และโมโดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 

ทั้งนี้ โครงการฯใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว และหากสามารถปรับปรุงโรงงานให้ผลิตน้ำตาลทรายดิบเพื่อใช้ในพื้นที่โครงการ จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ นอกจากนี้ทางบริษัทฯ มีการวางแนวทางก่อสร้างและทดลองเดินเครื่องจักร คาดจะเริ่มได้ในปี 2568 พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดเอทานอลไปสู่พลาสติกชีวภาพอากาศยานรวมกับพันธมิตรทางธุรกิจ

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  ระบุถึง ความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 ของปี 2566 ผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ 1. ขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยมีการปรับปรุงประกาศ อก. เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องทีทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2562 เพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉ.2) พ.ศ.2564 ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 และปรับปรุงผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ 

2. เร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยผลักดันการลงทุนในพื้นที่มีศักยภาพเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( EEC) มูลค่าโครงการลงทุนใน Bio Hub  และ3. กระตุ้นอุปสงค์ ออกมาตรการคลังสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลักดันตราสัญลักษณ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ และ 4. สร้างเครือข่ายศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence:CoBE)  โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สร้างเครือข่ายด้านงานวิจัยอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 77 หน่วยงาน เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ 17 หน่วยงาน และเทคโนโลยีเชิงลึกการเกษตร 15 มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรพัฒนาอบรมบุคลากรชีวภาพกว่า 850 ราย

ทั้งนี้ ตามข้อมูล รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน และผลการทบทวนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ.2561 - 2570 ระยะครึ่งแผน  ที่นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สาระสำคัญชี้ว่า จากมาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ที่กำหนดเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ อย่างน้อย 190,000 ล้านบาท นั้นในปัจจุบันพบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่มีศักยภาพ (Bio Hubs) รวมทั้งสิ้น 28,440 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือ 153,340 ล้านบาท จะได้จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)มีการอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วเมื่อปี 2565 รวม 211 โครงการมูลค่า62,572 ล้านบาทในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงกิจการที่พัฒนาเทคโนโลยี ชีวภาพ

นอกจากนี้ ยังมีแผนขับเคลื่อนผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EECและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และอุตสาหกรรมชีวภาพ

นอกจากโครงการที่นครสวรรค์แล้ว ยังมีโครงการเพื่ออุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการโดยบริษัทน้ำตาลมิตรผลจำกัด อยู่ในระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนเพื่อต่อยอดการผลิตเอทานอล เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio jet Fuels) ในจังหวัดตาก ชัยภูมิ กาฬสินธุ์

โครงการไบโอฮับเอเชีย (Bio Hub Asia)จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดย บริษัทไบโอแมทลิ้งค์จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะรองรับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 54 โรงงาน ปี 2565 มีความก้าวหน้าการลงทุนในระยะที่ 1 มูลค่า 10,000 ล้านบาท

     โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการโดยบริษัทอุบลราชธานี ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่ และระบบสาธารณูปโภคสำหรับการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพมีแผนจะก่อสร้างในปี 2567

 โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ (Lopburi Bio Complex) อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ดำเนินการโดยบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่จำกัด แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำ EIA และทำประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 2 แล้ว

โครงการลงทุนพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid: PLA) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยบริษัทโททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย)จำกัด เพื่อผลิตแลคไทด์ (Lactide) กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ซึ่งผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว

 โครงการผลิตกรีนดีเซล (Green Diesel)และสารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM)ที่จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยบริษัทอีเอ ไบโอ อินโนเวชั่นจำกัด เพื่อผลิตกรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD)

ความคืบหน้าอุตสาหกรรมชีวภาพกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วแต่ก็เสี่ยงที่จะเติบโตไม่ทันการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและกำลังเป็นจุดชี้เป็นจุดชี้ตายว่าเศรษฐกิจของประเทศจะไปรอดได้หรือไม่ ก็ขึ้นกับการทำให้ความคิดริเริ่มและเป้าหมายต่างๆกลายสภาพเป็นความจริง ซึ่งรวมถึง  Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ด้วย

ความก้าวหน้าของ“นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์”เทคโนโลยีต่อยอดเกษตรมั่งคั่ง