“ปัญหาการเงิน” กดดันคนไทย ไร้แผนท่องเที่ยว“ช่วงปีใหม่”

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยผลสำรวจประชาชนเรื่องท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ 2568ส่วนใหญ่กังวลปัญหาการเงินจนไร้แผนท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวปักหมุภาคเหนือ งบ 5 พัน-หมื่นบาท
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ประจำเดือนพ.ย. 2567 จำนวน 5,669 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับ แผนการท่องเที่ยวไทยปลายปี 2567 ผลการสำรวจพบว่า
ประชาชนที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2567 มีสัดส่วนค่อนข้างทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปี 2566
โดยภาคเหนือยังเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ประชาชนวางแผนไปท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัญหาทางการเงินและค่าใช้จ่ายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ตอบแบบสอบถาม
- 32.28% มีแผนการท่องเที่ยว ซึ่งค่อนข้างทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจปี 2566
- ร้อยละ 32.19% ภาคเหนือยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดิม รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ
- 67.72% ไม่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว
- ร้อยละ 38.55 กังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินซึ่งเป็นเหตุผลที่มีสัดส่วนสูงสุด
- ร้อยละ 32.12 กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูง
ทั้งนี้ ในภาพรวมการวางแผนการท่องเที่ยว ประชาชนยังมีปัจจัยที่กังวลอยู่หลายประการ
51.48% ความกังวลด้านความปลอดภัยและอุบัติเหตุเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญจากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 30.85% โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีความกังวลในเรื่องนี้สูงถึง 71.05%
50.00% ประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยว
47.49% กังวลด้านการจราจร
การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเดือนพ.ย.-ธ.ค.2567 ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถาม
44.59% คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปี 2566 สัดส่วน 42.07%
31.79 % ใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท โดยปี 2566 สัดส่วน 24.71%
19.54 % ใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท ซึ่งปี 2566 สัดส่วน 30.02%
"จะเห็นได้ว่า ประชาชนมีแผนการใช้จ่ายลดลงในวงเงินที่สูง สะท้อนถึงการปรับตัวและการควบคุมงบประมาณที่มากขึ้น สำหรับประเภทของค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็น 71.64% รองลงมาคือค่าอาหาร คิดเป็น70.71% และค่าที่พักคิดเป็น 62.35% ตามลำดับ
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงการสำรวจครั้งนี้ว่า แม้ประชาชนจะมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจสถานะทางการเงิน และภาระค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คาดว่า จะยังคงมีบรรยากาศที่คึกคักทั่วทุกภูมิภาค โดยภาครัฐได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริม ให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง
ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางและความพร้อมในการรับมืออย่างเข้มข้น พร้อมทั้งดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
เพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2567 ภาครัฐได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการเพิ่มความปลอดภัยทาง ท้องถนน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางท้องถนน และมาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการ