“จัดซื้อจัดจ้างสีเขียว”เกณฑ์ใหม่ รัฐ-ธุรกิจเร่งใช้ร่วมสร้างความยั่งยืน
การขับเคลื่อนเพื่อ“ความยั่งยืน”มีกลไกที่สำคัญนั่นคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชน
เพราะจะเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้ซัพพลายเชนรายเล็กๆ หรือแม้แต่คู่ค้าธุรกิจและการบริการให้ภาครัฐต้องคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนปัจจุบันยังมุ่งเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นำไปสู่การกำหนด“Green & Sustainable Procurement”
กรมบัญชีกลาง ได้กำหนดกำหนดGreen & Sustainable Procurement มุ่งเน้นผลักดันภาครัฐให้เป็นภาครัฐสีเขียวและยั่งยืน ปัจจุบันจะมีการปรับปรุงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับสินค้าสีเขียว สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล และผลักดันให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมทั้งตอบโจทย์เป้าหมายที่ไทยจะมุ่งเข้าสู่ประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ในปี 2065 พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในปี 2573
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้เผยแพร่คู่มือ“วิธีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”โดยอ้างอิงจากคู่มือการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการ จัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในหน่วยงานได้
สำหรับหน่วยงานที่มีความประสงค์เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตร จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสินค้าที่เป็นมิตร กับสินค้าทั่วไป การค้นหารายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรจากบัญชีรายชื่อสินค้าและ บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ ผ่านช่องทางของเว็บไซต์ฐานข้อมูล สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม http://gp.pcd.go.th เพื่อนำไปใช้ในการวางแผน ตั้งกรอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อตรวจรับสินค้าและบริการแล้วสามารถ บันทึกข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบการรายงานผลภายในเว็บไซต์เดียวกันนี้ เพื่อใช้ประเมินสัดส่วนมูลค่าและปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรและปริมาณ ก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้
สำหรับ นิยามของ“พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หมายถึง สินค้าหรือบริการที่ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน แต่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพเทียบเท่า หรือสูงกว่าสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน โดยพิจารณาจากขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน การนำกลับไปใช้ (reuse) การแปรใช้ใหม่ (recycle) และ การนำไปกำจัด
ยกตัวอย่างเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดคุณสมบัติสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิต ใช้ พลังงานที่สะอาด ลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต และลดขั้นตอนของกระบวนการผลิต มีระบบขนส่งและจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ขนส่งที่ประหยัดพลังงานที่สุด มีความคุ้มค่าตลอดชีวิตการใช้งาน เช่น ทนทาน ซ่อมแซมและดูแลรักษาง่าย ปรับปรุงต่อเติมได้ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย มีระบบการจัดการหลังหมดอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การเก็บรวบรวมหรือกำจัดซากหลังการใช้งานเป็นต้น
ขณะที่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทจัดหาทรัพยากรด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบตั้งแต่การออกแบบ การคัดเลือก และการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ เช่น ตั้งแต่ปี 2564 ที่บริษัทริเริ่มด้วยการซื้อตรงจากเกษตรกรภายใต้เครือข่ายของโครงการสามพรานโมเดล
ในปี 2561 เรามุ่งมั่นที่จะกำจัดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในโรงแรมและรีสอร์ทภายในเครือดุสิตทั่วโลก จากนั้นในปี 2565 ได้ทยอยขยายผลการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักชนิดเติมไปยังโรงแรมในต่างประเทศ และปี 2566 จะขยายผลไปที่ภาชนะบรรจุอาหารแบบนำกลับ (Takeaway) สำหรับโรงแรมในประเทศไทย
การตั้งกฎและเกณฑ์เพื่อสร้างกติกาให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ในระยะสั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อคู่ค้าหรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายย่อยแต่ในระยะยาวคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่จะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและสามารถรับความท้าทายจากกฎเกณฑ์ใหม่ในระดับสากลได้