อินไซต์ ครม.ถกแก้มันสำปะหลังราคาตก ‘คลัง’ – ‘พาณิชย์’ โยนสกัดลักลอบนำเข้า

อินไซต์ ครม.ถกแก้มันสำปะหลังราคาตก  ‘คลัง’ – ‘พาณิชย์’ โยนสกัดลักลอบนำเข้า

"ครม."ถกแก้ปัญหาลักลอบนำเข้ามันสำปะหลัง “พาณิชย์” จี้ “คลัง” ช่วยใช้ “ศุลกากร” สกัดนำเข้า “จุลพันธ์” แจงไม่มีอำนาจสกัดการนำเข้าตามชายแดน “สุดาวรรณ” ช่วยหาทางออก เน้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าการผลิต

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีการหารือวาระเกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68 ซึ่งเสนอเข้ามาโดยกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้วาระนี้ได้มีการใช้เวลาหารือกันนานที่สุด โดยในเรื่องนี้มีรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังตามแนวชายแดน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นกล่าวว่าปัญหามันสำปะหลังส่วนใหญ่มาจากการลักลอบนำเข้า จึงอยากให้กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลในส่วนนี้ แต่หลังจากที่นายพิชัยกล่าวจบ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กดไมโครโฟนพูดโต้แย้งว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจดูแลเฉพาะใน ด้านศุลกากร เท่านั้น แต่การควบคุมการลักลอบนำเข้าโดยตรงไม่ใช่อำนาจของกระทรวงการคลัง

ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลนั้นมีการหันมองกันไปมาเพราะว่ารัฐมนตรีทั้งสองคนมาจากพรรคเดียวกัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเห็นสอดคล้องกับนายจุลพันธ์ว่า การแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าไม่ใช่อำนาจของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงจะดูแลเพียง การขนส่งผ่านเขตศุลกากร เท่านั้น แต่ถ้าเป็นด้านชายแดนอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องการควบคุมการลักลอบกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจ

ในที่สุดนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ครม.มากนัก ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการสร้างความต้องการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเสนอมาตรการอื่น ๆ ที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งที่ประชุม ครม. ก็ยอมรับไอเดียดังกล่าวของรมว.วัฒนธรรม เพราะว่ารู้ว่าคนนี้เป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจมันสำปะหลังดีที่สุดใน ครม.

โดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้กล่าวในที่ประชุมครม.ถึงเรื่องนี้ว่า อยากให้ช่วยแก้ปัญหา และสามารถนำมันสำปะหลังไปทำประโยชน์ให้มากที่สุด

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (17 ธ.ค. 67) ที่นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสําปะหลังตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังโดยไม่เร่งระบายผลผลิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและสร้างศักยภาพการแปรรูปของเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบด้วย 4 โครงการ ดังนี้

 1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 300 ล้านบาท

โดยสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้นหรือแป้งมัน เป็นระยะเวลา 60 - 180 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด รัฐชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก และมีระยะเวลารับซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2568 ระยะเวลาเก็บสต็อก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2568 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ – 31 ตุลาคม 2569

 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงิน 17.50 ล้านบาท

โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรที่ดำเนินกิจการโดยมีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย วงเงินกู้ 500 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน อัตราดอกเบี้ยโครงการฯ ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐสนับสนุนดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.5 ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ – 30 มิถุนายน 2569

3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 41.40 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมายเกษตรกร 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 690 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยโครงการฯ เท่ากับ MRR และรัฐรับภาระดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เกษตรกรรับภาระในอัตรา MRR – 3 ระยะเวลา 24 เดือน  กำหนดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ – 31 ตุลาคม 2570

4. โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ)  วงเงิน 10 ล้านบาท

โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย 650 เครื่อง ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ – 30 กันยายน 2568

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมของบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังไปก่อนในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมากนี้ ให้ผลผลิตมีเชื้อแป้งและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคา โดยจะสนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ภายในสัปดาห์หน้า

 

“รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง ก็จะเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของราคา และขอให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน“นายพิชัย กล่าว