SRP : การผลิตข้าวที่ยั่งยืน อาวุธลับสู้โลกร้อนของชาวนาไทย

SRP : การผลิตข้าวที่ยั่งยืน  อาวุธลับสู้โลกร้อนของชาวนาไทย

ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวลำดับต้นๆของโลกก็กำลังถูกปัญหาโลกร้อนท้าทายความยั่งยืนของขีดความสามารถการผลิตข้าวและอาชีพ“ชาวนาไทย”

ในโอกาสร่วมกับ“สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย”ซึ่งลงพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อศึกษาภาวะผลผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2567/68 ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กัญญนัช ศิริธัญญา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ขณะที่อุณหภูมิและแสงอาทิตย์รุนแรงขึ้น ในช่วงปี 2090-2099 นั้นจะทำให้ผลผลิตข้าวของไทยลดลงราว 21%  จากข้อมูลนี้อาจดูเหมือนการทำนาเป็นผู้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแต่ในความจริงมีข้อมูลบ่งชี้ว่า การส่งออกข้าวไทย จะเผชิญกับปัญหาเงื่อนไขการค้าแห่งอนาคต ถ้ายังคงมีการทำนาข้าวแบบเดิมที่ถูกเรียกว่าผู้ร้ายในสังคมคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

สำหรับ“ข้าว”คืออาหารหลักของประชากรมากกว่า 3.5 ล้านคนทั่วโลก โดยประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออก ข้าวที่สำคัญของโลก มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า50% ของพื้นที่เพาะปลูกของประเทศ และมีชาวนาประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็น25% ของจำนวนประชากรในประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม การทำนาปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ประมาณ 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด หรือคิดเป็น8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งการศึกษาในเขตชลประทานพบว่า วิธีการขังน้ำในนาข้าวซึ่งเป็นวิธีปกติของการทำนาในประเทศไทยส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในอัตราที่สูงกว่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 28 เท่า

วัลลภ มานะธัญญา ผู้บริหารบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด (BSCM) อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เล่าถึง มาตรฐานการปลูกข้าวแบบยั่งยืน หรือ SRP (Sustainable Rice Platform) ว่า คือการปรับตัวของชาวนาที่ต้องรับมือกับความต้องการตลาดข้าวที่อยากได้ข้าวที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนในทุกด้านด้วย 

การปลูกข้าวแบบ SRP คือการผลิตข้าวที่มีคุณภาพและความปลอดภัยปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของเกษตรกร ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จากการใช้เทคโนโลยีและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 

“มาตรฐานของSRP ยังครอบคลุมไปที่แรงงานและสุขภาพของชาวนาและครอบครัวด้วย โดยมีการกำหนดว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15ปี ไม่มีแรงงานบังคับ ค่าจ้างแรงงานเป็นธรรม ”

เกณฑ์เหล่านี้ต้องทำให้ได้จากนั้นจะมีบริษัทตรวจสอบมาตรฐานมาตรวจสอบทุกปี แต่ขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 1 ล้านบาท สามารถนำใบรับรอง(Certificate)นี้ไปใช้ประกอบการขายในตลาดได้ ซึ่งจะได้ราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป 50-60 ดอลลาร์ต่อตัน โดยบริษัทที่ส่งเสริมให้ชาวนาทำนาหยอดได้คะแนนประเมินที่ 98 คะแนน  ปัจจุบันส่งออกไปตลาดสหรัฐ ยุโรป

จากค่าพรีเมี่ยมที่ข้าวSRPได้รับทำให้โรงสีจะส่งต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปยังชาวนา โดยจะเพิ่มให้จากราคาข้าวปกติที่ตันละ750 บาท เพื่อเป็นแรงจูงในให้ชาวนามาร่วมทำนาแบบ SRP มากขึ้นเพราะสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือเมื่อการทำงานมีการดูแลขั้นตอนการผลิตอย่างดีและใกล้ชิดทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 20% โดยปริมาณผลผลิตเฉลี่ยที่ 500-550 กิโลกรัม(กก.)ต่อไร่ขณะเดียวกันการเอาใจใส่ทุกขั้นตอนทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง 20% 

 “การทำนาSRPไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากหรือแทนไม่ต้องใช้เลย แต่ต้องใช้การใส่ใจและปรับตัวอย่างมากเพราะความละเอียดในการทำทุกขั้นตอนไม่เพียงส่งผลออกมาในรูปคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้นแต่คุณภาพชีวิตชาวนาก็จะดีขึ้น  ยังมีผลที่ได้คือข้าวคาร์บอนต่ำนี้จะทำให้สินค้าข้าวของไทยไม่ถูกมาตรการทางการค้าใหม่ๆโจมตี”

การเปลีี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังบีบคั้นให้อาชีพ“ชาวนา”ต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้แม้ปัจจุบันสัญญาณต่างๆยังไม่เด่นชัดนักแต่การปรับตัวเป็นกลุ่มแรกๆนั่นหมายถึงการเข้าถึงประโยชน์ที่มากกว่าเป็นกลุ่มแรกๆด้วยเช่นกัน

SRP : การผลิตข้าวที่ยั่งยืน  อาวุธลับสู้โลกร้อนของชาวนาไทย