เส้นทางการค้าโลก 5 แห่งเผชิญเสี่ยง ไทยส่ง 'แลนด์บริดจ์' ชิงโอกาส
สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ระบุถึงเส้นทางการค้า 5 แห่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพราะสินค้าถึง 90% ขณะที่ไทยเดินหน้าดัน "แลนด์บริดจ์" ชิงโอกาส เร่งจัดทำเอกสารประกวดราคาปีหน้า
ข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ระบุถึงเส้นทางการค้า 5 แห่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพราะสินค้าถึง90% ขนส่งผ่านเส้นทางนี้ ตามข้อมูลขององค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ(International Maritime Organization) ได้แก่
1.ช่องแคบอังกฤษ เรือมากกว่า 500 ลำแล่นผ่านทุกวันเพื่อเดินทางจากทะเลเหนือไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก และจากสหราชอาณาจักรไปยังทวีปยุโรป ในทางกลับกันทุกปี ผู้คนมากกว่า 16 ล้านคนและรถบรรทุก 5 ล้านคันแล่นผ่านท่าเรือและท่าเทียบเรือประมาณ 170 แห่งของช่องแคบ โดยท่าเรือหลัก ได้แก่ พอร์ตสมัธ, เลออาฟวร์, เชอร์บูร์ก และเบรสต์
2.ช่องแคบมะละกา ตั้งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตราในอินโดนีเซียและคาบสมุทรมาเลย์ เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยทอดยาวจากทะเลอันดามันผ่านช่องแคบสิงคโปร์ไปยังทะเลจีนใต้ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจหลักหลายแห่งของเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย มีเรือประมาณ 94,000 ลำผ่านช่องแคบมะละกาทุกปีหรือใช้ท่าเรือมากกว่า 40 แห่ง รวมกันแล้วเรือขนส่งสินค้าประมาณ 30% ของสินค้าที่ซื้อขายทั่วโลก
"ช่องแคบมะละกาซึ่งมักเกิดความแออัดและชนกันอยู่แล้ว คาดว่าจะเกินขีดความสามารถภายในสิ้นทศวรรษนี้ เนื่องจากปริมาณการขนส่งทางเรือยังคงเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเสนอให้มีการสร้าง “สะพานเชื่อม” ยาว 100 กม. ในส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมาเลย์ ซึ่งสามารถขนถ่ายสินค้าและขนส่งสินค้าโดยรถไฟและถนน เพื่อหลีกเลี่ยงช่องแคบมะละกา"
3.ช่องแคบฮอร์มุซ อยู่ระหว่างอิหร่านและโอมาน และเชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ เป็นเส้นทางเดินเรือหลักสำหรับน้ำมันจากตะวันออกกลาง ปริมาณ 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 21 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว20% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลกทุกปีอีกด้วย
“เพื่อช่วยจัดการความจุและหลีกเลี่ยงการชนกัน ช่องแคบจึงใช้ระบบการจราจรแบบ 2 เลน โดยเรือขาเข้าใช้เลนหนึ่งและเรือขาออกใช้อีกเลนหนึ่งจากทะเลแดงที่อยู่ใกล้เคียง แต่ความตึงเครียดด้านความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัญหาที่บริษัทเดินเรือที่ดำเนินการในช่องแคบฮอร์มุซกังวล”
4.คลองสุเอซ ในอียิปต์เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงและเป็นเส้นแบ่งระหว่างแอฟริกาและเอเชีย เป็นเส้นทางเดินเรือที่สั้นที่สุดจากยุโรปไปยังเอเชีย และช่วยให้เรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลรอบแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้ได้ มีเรือข้ามฟากเฉลี่ยมากกว่า 20,000 ลำต่อปี แต่มีความเสี่ยงจากการโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดง ทำให้รายได้จากคลองลดลง
5.คลองปานามา เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศ ความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความแออัด ล้วนส่งผลกระทบ ต่อเส้นทางคมนาคมสายนี้
“WEF พยายามสร้างระบบข้อมูลห่วงโซ่อุปทานร่วมกันเพื่อให้สามารถมองภาพรวมเส้นทางเดินทางได้ดีขึ้นขณะเดียวกันก็จะช่วยหลีกเลี่ยงคอขวดเส้นทางการค้า รวมถึงความแออัดของท่าเรือและสนามบินต่างๆเพื่อไม่ให้การค้าและเศรษฐกิจโลกสะดุด”
ท่ามกลางความเสี่ยงและความแออัดเส้นทางการค้าทั่วโลก ประเทศไทยได้นำเสนอ “การพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์)โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (แลนด์บริดจ์)” มูลค่าลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568 หลังจากตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมเดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ Dubai Port World (DP World) ประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า ตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงฯ เดินทางไปโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก และตอนนี้ก็มีต่างชาติแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการ ขั้นตอนระหว่างนี้จึงอยู่ในช่วงของการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะมาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC คล้ายกับ EEC
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน จัดการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.SEC และรายละเอียดของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ พร้อมทั้งเตรียมจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ต่อไป
“ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมเพราะจะมีการจัดทำ พ.ร.บ.SEC ข้อกำหนดกฎหมายที่ชัดเจน และกระทรวงฯ จะทำควบคู่ไปกับการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) เพื่อให้มีความพร้อมในการเปิดประมูลทันทีหลังจากที่กฎหมายต่างๆ ผ่านการพิจารณาแล้ว”
ทั้งนี้ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก และเข้าร่วมการประมูลโครงการนี้ เพราะสัญญาณบวกในช่วงโรดโชว์ที่ผ่านมา มีนักลงทุนสนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประสานลงพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพของโครงการ อาทิ กลุ่มดูไบ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนก็เห็นพร้อมกันว่าโครงการนี้มีศักยภาพและเห็นด้วยกับแผนพัฒนาและรายละเอียดโครงการที่ศึกษาไว้
สำหรับแผนดำเนินงานของโครงการแลนด์บริดจ์ เดิมประเมินว่า พ.ร.บ. SEC และการจัดตั้งสำนักงาน SEC จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2568 ส่วนออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จปี 2568
โดยการดำเนินงานส่วนนี้จะสอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนโดยตั้งเป้าจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนในไตรมาส 3/2568 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการในปี 2568
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ในต้นปี 2569 ขณะที่การก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573 ระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างปี 2574 แล้วเสร็จปลายปี 2577 และระยะที่ 3 เริ่มก่อสร้างปี 2578 แล้วเสร็จปลายปี 2579