มรสุมไทยออยล์โปรเจกต์แสนล้าน ไม่เพิ่มทุนหลังบอร์ดอัดงบCFP อีก 6.3 หมื่นล้าน
“ไทยออยล์” เคลียร์เงินลงทุนเพิ่มในโครงการ CFP อีก 6.3 หมื่นล้านบาท ยันไม่เพิ่มทุน ภายในปี 2568 หาก “ยูเจวี” ไม่ส่งมอบงาน รักษาสิทธิสัญญา ชี้โครงการต่อเนื่องเป็นผลดี เพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น ช่วยคงฐานะผู้นำโรงกลั่นในภูมิภาค ตามเทรนด์ลดโลกร้อนสร้างการเติบโตยั่งยืน
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลักโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) เงินลงทุนที่ประเมินไว้ช่วงเริ่มโครงการ มูลค่า 4,825 ล้านดอลลาร์ ประมาณการดอกเบี้ย 151 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 เป้าหมายเพิ่มกำลังการกลั่น จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายเปิดดำเนินการปี 2566
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้โครงการ CFP ล่าช้า ทั้งในเรื่องของการผลิตเครื่องจักร การขนส่ง และการก่อสร้าง ส่งผลให้ปี 2564 ผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก กิจการร่วมค้า UJV ประกอบด้วย 1. Samsung E&A (Thailand) 2. Petrofac South East Asia และ 3. Saipem Singapore ได้มีการเจรจาขอเพิ่มงบประมาณ ส่งผลให้งบลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 550 ล้านดอลลาร์ ประมาณการดอกเบี้ย 422 ล้านดอลลาร์
โดยขณะที่ช่วงเกิดปัญหา UJV ไม่ให้ไทยออยล์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วง เพราะไม่ใช่คู่สัญญา แรงงานผู้รับเหมาช่วงประท้วงขอค่าจ้าง เมื่อเกิดผลกระทบวงกว้าง UJV จึงได้มีการเจรจาขอเพิ่มงบประมาณส่วนดังกล่าว และได้ตั้งเป้าหมายทดสอบเดินเครื่องจักร HDS-4 ไตรมาส 1 ปี 2567 โดยบริษัทแม่ของ 3 บริษัท ออกหนังสือค้ำประกันสัญญา วาง Performance Bond10% ของมูลค่าสัญญา
วันที่ 12 ธ.ค. 2567 บริษัทรับเหมากว่า 20 บริษัท ที่รับงานโครงการ CFP นำพนักงานราว 500 คน ไปประท้วงที่สถานทูตเกาหลี ถนนเทียมร่วมมิตรเนื่องจากซัมซุงที่เป็นแกนนำ UJV consortium ไม่ยอมจ่ายหนี้มากกว่า 6,000 ล้านบาท ทำให้กระทบคนงานกว่า 5,000 คน และบริษัทหลายแห่งต้องปิดตัวลง หรือขาดทุนอย่างหนัก
ล่าสุดโครงการ CFP ได้ปรับแผนโครงการอีกครั้งในปี 2567 คณะกรรมการไทยออยล์ 19 ธ.ค.2567 เพิ่มงบลงทุนอีก 63,028 ล้านบาท ประมาณการดอกเบี้ย 17,922 ล้านบาท เตรียมเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 21 ก.พ.2568
มั่นใจฐานะการเงินแกร่งไม่ต้องเพิ่มทุน
นายบัณฑิต ธรรมประจําจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า สําหรับงบประมาณลงทุนส่วนเพิ่มของโครงการพลังงานสะอาด หรือ CFP ประมาณ 63,028 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท ที่บริษัทฯ จะใช้ในการดําเนินการก่อสร้าง บริษัทฯมีแผนจัดหาเงินทุน ประกอบด้วย
1. เงินสดคงเหลือ และกระแสเงินสดจากการดําเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2025-2027 กว่า 30,000 ล้านบาท และ 2. การออกหุ้นกู้หรือ การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งพิจารณาหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น การออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมถึง การบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ราว 1-1.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.7-5.55 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่า ไม่มีแผนการเพิ่มทุน จากการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างโครงการในครั้งนี้แต่อย่างใด
ขออนุมัติเงินลงทุนผู้ถือหุ้น21ก.พ.2568
“ค่าเสียหายที่ต้องขออนุมัติเพิ่ม ถือเป็นความอ่อนไหวมาก ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่แล้วเสร็จในสัญญาปี 2568 ดังนั้น จึงยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ในตอนนี้ แต่จะยังคงใช้สิทธิ์ตามกรอบของกฎหมายแน่นอน เพื่อรักษาผลประโยชน์บริษัทและผู้ถือหุ้น สิ่งไหนที่ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด เราก็จะไม่ทำ อีกทั้งการดำเนินการบังคับใช้สิทธิ์ต้องทำในขั้นตอนที่ต้องรอบคอบในสัญญาซึ่งมีความซับซ้อน เป็นสัญญาที่มีมาตรฐานสากล จะใจร้อนไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ทำแล้วและก็ต้องทำต่อไป และขออนุมัติงบเพราะจำเป็นที่ผู้ถือหุ้นจะอนุมัติซึ่งเตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 ก.พ. 2568”
ทั้งนี้ หากปีหน้าผู้รับเหมาหลัก UJV ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ก็จะเดินตามสิทธิ์และการหาผู้รับเหมาใหม่ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องในอนาคต เมื่อดูว่าไม่สามารถไปต่อกับผู้รับเหมาหลักในปัจจุบันได้ เพื่อรักษาประโยชน์บริษัทและผู้ถือหุ้น และต้องทำตามสัญญา อย่างไรก็ตาม จะต้องเตรียมใช้เงินทั้งผู้รับเหมาหลัก และรับช่วงต่อตามขั้นตอน จึงตั้งกรอบวงเงินไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นตามกรอบระยะเวลาโครงการแล้วเสร็จปี 2571 เท่านั้น หากทำได้เร็วก็จะไม่ต้องใช้เงินตามจำนวน
ลั่นผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มั่นใจว่างบประมาณที่ขอเพิ่มเติมเพียงพอต่อการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จ โดยได้ศึกษาและประเมินร่วมกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้วยความระมัดระวังว่า สามารถดําเนินโครงการนี้ได้ตามงบประมาณที่วางไว้ โดยจะบริหารจัดการงบประมาณให้ดีที่สุด อีกทั้งจากการศึกษาและประเมินของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนระดับโครงการในปัจจุบัน จะลดลงจากการประเมินในช่วงการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนของกิจการ
รวมทั้งเมื่อโครงการเสร็จจะทําให้ไทยออยล์มีผลประกอบการทางการเงิน ทั้งในส่วนรายได้ ผลกําไรและฐานะทางการเงินดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นในระยะยาว ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการฯ ที่ต้องเลื่อนออกไปกว่า 3 ปี เป็นผลมาจากการดําเนินงานขั้นตอนที่เหลือ เป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชื่อมต่อระบบของโครงการฯ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นก่อนเปิดดําเนินการ จึงต้องทําการทดสอบระบบจนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถเปิดดําเนินการได้ตามมาตรฐานที่กําหนดไว้อย่างสมบูรณ์
คาดสรุปเวลาแน่ชัดขึ้นในปี 2568
นอกจากนี้ การก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ ที่ทําหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนนํ้ามันเตา และยางมะตอยให้เป็นน้ำมันอากาศยานและดีเซลไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด เนื่องจากปัญหาการหยุดงานของกลุ่มบริษัทรับเหมาช่วง เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากผู้รับเหมาหลัก UJV ทําให้การดําเนินโครงการต้องสะดุด จนต้องปรับระยะเวลาดําเนินโครงการออกไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ บริษัทฯ ได้พยายามหาทางแก้ไข เพื่อให้การดําเนินงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปให้แล้วเสร็จ คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถสรุปเวลาให้แน่ชัดขึ้นในปี 2568
“เราถือเป็นผู้นำโรงกลั่นในไทยและอาเซียน ปัจจุบันมีกำลังการกลั่นกว่า 275,000 บาร์เรลต่อวัน และจะขยายเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 90% ทำให้บริษัทฯ ยังคงเป็นผู้นำในอาเซียนต่อไปจะต้องพัฒนาโรงกลั่นให้เข้าสู่เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ การลงทุนในการเพิ่มมูลค่าจะช่วยลดต้นทุนการกลั่นตอบโจทย์ความยั่งยืนในอนาคตด้วย”
คงจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 25%
นายบัณฑิต กล่าวว่า การเพิ่มเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการจ่ายเงินปันผลของ บริษัทฯ อย่างมีนัยสําคัญ เนื่องจากแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมส่วนใหญ่มาจาก เงินสดคงเหลือ กระแสเงินสดจากการดําเนินงาน และการกู้ยืม ดังนั้นบริษัทฯ ยังคงพิจารณาจ่ายเงินปันผลตามนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 25% ของกําไรสุทธิของงบการเงิน ภายหลังจากการหักทุนสํารองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ และตามกฎหมายได้
นอกจากนี้ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าสูง บริษัทฯ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ในการตรวจรับงานและการจ่ายเงินโครงการฯ ต้องเป็นไปตามหลักสากล และเงื่อนไขในสัญญา มีการตรวจสอบความถูกต้องทั้งในส่วนปริมาณงานและคุณภาพงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเป็นผู้ประเมินและตรวจรับงาน และจัดตั้งคณะกรรมการกํากับดูแลโครงการฯ ให้การดําเนินการเป็นไปตามหลักสากลในการบริหารโครงการขนาดใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาการเพิ่มงบรอบนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 จากที่เคยเพิ่มงบช่วง โควิด-19 แล้ว 500 ล้านบาท จากงบรวมก่อสร้างเดิมประมาณ 5,375 ล้านดอลลาร์ (ราว 182,750 ล้านบาท คิดค่าเงิน ปัจจุบันที่ 34 บาท/ดอลลาร์) โดยปัญหาล่าสุดเกิดจาก ผู้รับเหมาหลักรับเงินก่อสร้างไปแล้ว ไม่จ่ายต่อผู้รับเหมาช่วงทำให้เกิดการหยุดงานประท้วง โครงการก่อสร้างล่าช้า จากเดิมเป้าหมายที่ขยับมาใหม่จะแล้วเสร็จภายในปี 2568