“พลังงานโซลาร์เซลล์" ต้องผลิตได้-เข้าถึงง่ายและกำจัดให้เป็น
ข้อมูลจาก“สำนักข่าวบลูมเบิร์ก”รายงานว่ากำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ทั่วโลกได้ถูกติดตั้ง“ในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี2024” เนื่องจากราคาของแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกลง
ช่วยส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น คลื่นแห่งพลังงานสะอาดและโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยก็กำลังไดนามิกที่สำคัญ
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโอกาส การประชุมหารือขับเคลื่อนนโยบายระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ประเด็นการดำเนินการ One Stop Service การอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้า เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการยกเลิกขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ลำดับที่ 88) จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว
ปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนที่กระทรวงพลังงานเตรียมส่งเสริมในปีหน้า เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
ด้านแนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งทั้งสองกระทรวงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับคุณภาพและความปลอดภัยของแผงโซลาร์เซลล์ และให้ทบทวนมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการแผงที่หมดอายุใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการร่างกฎหมายและจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสำหรับแก้ไขปัญหาและชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผงโซลาร์เซลล์
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีฐานข้อมูล ปริมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบที่สามารถนำไปประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุในอนาคตได้ รวมทั้งจะร่วมมือพัฒนาส่งเสริมการนำแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาใช้งานเป็น 2nd Life Battery คือนำไปใช้งานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) สำหรับบ้าน อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับการแก้ไขกฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเนื่องจากกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองกติกาสากลและช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล้อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567
ส่วนการจัดการกับแผนงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีคัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และสามารถนำวัสดุพลอยได้ (By-Products)จากกระบวนการคัดแยก ได้แก่ แผ่นซิลิกอน และแถบลวดนำมาผลิตเป็นโลหะเงิน โลหะทองแดง อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์และโลหะซิลิกอน สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของเสียและรักษาวัตถุดิบให้หมุนเวียนภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง
พลังงานสะอาดไม่ใช่แค่กระแสที่มาแล้วไปอย่างรวดเร็วแต่คือรูปแบบการผลิตพลังงานใหม่ในอนาคตซึ่งไทยกำลังเคลียร์ทางให้การผลิตและเข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง