เศรษฐ-สุข-สมดุล-ยั่งยืน สิ่งใหม่เกิดได้ในปี2025
ปี 2024 กำลังจะจบลง และปี 2025 กำลังจะเริ่มต้น โลกก็กำลังก้าวเข้าใกล้ปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่สหประชาชาติกำหนดว่าเป็นปลายทางของเป้าหมาย Sustainable Development Goals หรือ SDGs
และก็จะเป็นปีที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติควรจะต้องประกาศร่วมกันว่าก้าวต่อไปของการพัฒนาคืออะไร
ผู้เขียนเคยได้เล่าถึงคราวที่มีโอกาสเยือนสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา และได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับก้าวต่อไปนับจาก SDGs 2030 โดยประเด็นหนึ่งที่มีความเห็นพ้องกัน คือ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ไม่ควรจะเป็นตัวชี้วัดที่ตัดสินเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งทางเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกเอกสาร Policy Brief เมื่อเดือนมิ.ย. 2023 เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันคิดนอกกรอบของ GDP เพื่อหาสิ่งที่จะบ่งชี้ความอยู่ดีมีสุข ของประชากรโลกที่ครอบคลุมและเหมาะสมกว่า GDP และในขณะนี้ กำลังมีการศึกษาเพื่อจัดระบบบัญชีประชาชาติ (The System of National Accounts) ขึ้นใหม่ โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2025
ระหว่างนี้ ก่อนที่เราจะได้เห็นหน้าตา Beyond GDP ว่าจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนขอชวนให้กลับมาคิดกันว่าที่เราต้องการให้เศรษฐกิจเติบโดนั้น เพื่ออะไร เราอยากได้อะไรจากการที่ GDP โต
ผู้เขียนได้มีโอกาสกราบนมัสการพระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมมสากิโย) และสนทนาในประเด็นของเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ใดยในคราวนี้ การสนทนาว่าด้วย ‘เศรษฐสุข’ มีความสอดคล้องกับประเด็น Beyond GDP เป็นอย่างยิ่งในความเห็นของผู้เขียน เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายที่เราต้องการจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นความสุขไม่ใช่ความทุกข์ พระพรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ชวนเสวนาให้คิดกันว่า คำว่า ‘wealth’ ในภาษาอังกฤษดั้งเดิม หมายถึง the condition of well-being หรือเป็นไทยคงจะเรียกว่า ‘สุขภาวะ’ ดังนั้นเศรษฐกิจที่สร้าง wealth ควรจะต้องเป็นเศรษฐสุข
ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น ความมั่งคั่ง หรือ wealth เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่การวัดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น เป็นการวัดในบริบทที่ไม่ต่างจาก GDP นั่นคือ วัดที่ทุนและสินทรัพย์เป็นหลัก และจากฐานข้อมูลในปี 2022 พบว่าทุกภูมิภาคในโลกนี้ ต่างมีความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งที่สูง โดยร้อยละ 10 ของประชากรที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศ เฉลี่ยแล้วถือครองความมั่งคั่งสูงถึงร้อยละ 60-75 ของความมั่งคั่งทั้งหมด ในขณะที่ประชากรร้อยละ 50 ของประเทศเหล่านั้น ถือครองความมั่งคั่งรวมกันเพียงร้อยละ1-5 เท่านั้น ดังนั้น ถึงแม้ GDP และ wealth ของประเทศจะสูงขึ้น แต่ well-being หรือ ‘สุขภาวะ’ ของความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับไม่ได้ดีตามไปด้วย
การวิจัยอันเป็นที่มาของ Easterlin Paradox พบว่าแม้ประเทศรวยขึ้น แต่ค่าความสุขของประชาชนในประเทศนั้นมักไม่ได้เพิ่มขึ้นมาไปด้วย ความสุขแปรผันตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งเท่านั้น ในระยะยาวอัตราการเพิ่มขึ้นของความสุขไม่เพิ่มตามอัตราการโตของรายได้อีกต่อไป การศึกษาต่อๆ มาพบว่า ปัจจัยหลักประการหนึ่งคือ ‘การเปรียบเทียบกับผู้อื่น’ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนเพียงหยิบมือ ต่อให้รายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ประชาชนก็ไม่ได้สุขมากขึ้นเพราะรู้สึกว่ากลุ่มคนที่อยู่บนยอดพีระมิดได้เปรียบกว่า ดังนั้น ในสังคมที่วัดฐานะทางเศรษฐกิจด้วยรายได้และความมั่งคั่งทางวัตถุ ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์
แล้วเราจะทำอย่างไร ให้เศรษฐกิจเป็นเศรษฐสุขได้ ผู้เขียนขอเสนอให้นำ key word จากข้อความในย่อหน้าข้างบน มาเป็นสารตั้งต้น ‘เหลื่อมล้ำ’ ‘เปรียบเทียบ’ ‘ระยะยาว’ ประการแรก ที่เชื่อว่าทุกท่านคงเห็นพ้องต้องกัน คือต้องลดความเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องกระจายสู่ประชาชนทุกกลุ่มในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการสะสมความมั่งคั่งมากขึ้น ได้เข้าถึงสวัสดิการที่ดีขึ้น ประการที่สอง ต้องเข้าใจว่าการเปรียบเทียบนั้นไม่ใช่แต่การเปรียบเทียบกับผู้อื่น แต่จะมีการเปรียบเทียบกับสถานะเดิมของตนด้วย ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี สถานะทางเศรษฐกิจของผู้คนจะถูกกดดัน เพราะในยามที่รายได้ลดลง แต่ภาระผูกพันด้านค่าใช้จ่ายหลายประการไม่สามารถตัดลดได้ เช่น ค่าผ่อนชำระหนี้ มาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินต่างๆ มีความจำเป็นในอันที่จะคลายทุกข์ได้ แต่จะไม่ช่วยหยุดการลดลงของความสุขได้อย่างยั่งยืนหากขาดความสมดุล เมื่อต้องกินต้องใช้ ก็ต้องมีรายได้ เมื่อจะลงหลักปักฐาน ก็ต้องกู้ยืม เมื่อกู้ยืม ก็ต้องชำระหนี้ได้ ทั้งหมดนี้จะไม่บั่นทอนความสุขเลย หากสามารถสร้างสมดุลให้ชีวิตได้ ซึ่งสมดุลนี้ ต้องเกิดทั้งจากตนเอง และการเข้าถึงโอกาส ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้วางพื้นฐานให้ ประการที่สาม เศรษฐสุขจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนมองเห็นอนาคต เห็นโอกาสทำมาหากิน และเห็นความยั่งยืนในโอกาสนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นต่างๆ ที่เติมรายได้เพียงเฉพาะหน้า อาจบรรเทาทุกข์ได้เพียงชั่วครู่ แต่การจะสร้างเศรษฐสุข ต้องอาศัยนโยบายที่จะให้ผลต่อเนื่องได้ในระยะยาว เมื่อมองจากภาพใหญ่สู่ภาพเล็ก ก็คงต้องขอพูดเรื่องเดิมๆ ที่พูดมาทั้งปี คือ สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง สร้างทักษะแรงงานเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และทำให้สถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจได้
ท้ายนี้ ขอสรุปสั้นๆ ว่า เศรษฐกิจจะเป็นเศรษฐสุขได้ เมื่อเศรษฐกิจทำให้เราอยู่ดีกินดีอย่างสมดุล และสามารถมองเห็นความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้