วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 กับ 'สมประวิณ มันประเสริฐ'
"ตึงเครียด-กีดกัน-ผันผวน" มองแนวโน้มและความท้าทายเศรษฐกิจไทยปีหน้า
กับ 'สมประวิณ มันประเสริฐ' รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความท้าทายจำนวนมากทั้งผลกระทบเรื้อรังจากโควิด-19 สงครามในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเมียนมา รัสเซีย-ยูเครน หรือในตะวันออกกลาง รวมทั้งความไม่แน่นอนหลังจากการชนะเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
“กรุงเทพธุรกิจ” ชวน ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อไทยในปี 2568 โดยเฉพาะในยุคทรัมป์ 2.0 ผ่านรายการ
"กรุงเทพธุรกิจ Deep Talk"
ดร. สมประวิณ เริ่มต้นอธิบายให้ฟังว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้าถูกอธิบายด้วย 3 คำสำคัญ ได้แก่ "ตึงเครียด" จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ "กีดกัน" จากการที่ประเทศต่างๆ จะเลือกคบค้ากับพันธมิตรเท่านั้น และ "ผันผวน" จากนโยบายที่รุนแรงและรวดเร็วของทรัมป์
เขามองว่าผลกระทบในยุคทรัมป์ 2.0 จะรุนแรงกว่าสมัยแรก เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งจากสภาบนและสภาล่าง รวมทั้งมีการเตรียมการนโยบายไว้แล้วก่อนการเข้ารับตำแหน่ง โดยคาดว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในแต่ละประเภทไม่เท่ากัน อยู่ที่ 10% 20% และ 60% ตามแต่ละกลุ่มสินค้า ซึ่งในช่วงแรกในเขาเข้ามาอาจจะเริ่มขึ้นภาษีบางรายการที่ 20% ก่อนโดยประเทศต่างๆ รวมถึงจีนก็มีการเตรียมรับมือด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การลดดอกเบี้ยและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น
สำหรับผลกระทบต่อไทย มีทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือโอกาสที่สินค้าไทยจะทดแทนสินค้าจีนได้ในระยะสั้น แต่ด้านลบคือการที่จีนส่งออกไม่ได้จะกระทบห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับไทย รวมทั้งการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอาจเป็นโอกาสสำหรับไทยและอาเซียน หากประเทศไทยสามารถพัฒนาตนเองเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคได้
บริโภคเอกชน-การค้าข้ามประเทศ ศึกหนักปีหน้า
จากความท้าทายทั้งหมด ดร. สมประวิณกล่าวว่า SCB EIC จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2025 จาก 2.8% เหลือ 2.5% พร้อมปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2025 จาก 2.6% เหลือ 2.4% โดยเป็นตัวเลขที่อนุรักษนิยม (Conservative) ที่สุดในตลาด สะท้อนผลกระทบจากทรัมป์ 2.0 โดยองค์ประกอบที่ปรับลดมากที่สุดคือการบริโภคภาคเอกชนและการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะเผชิญความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวจาก 3.9% ในปี 2024 เหลือ 2% ในปี 2025 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะชะลอจาก 5% เหลือ 2.1% เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง เปรียบเสมือนการ “ดื้อยา” ที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ “ยาในคลัง” มีน้อยลง
เศรษฐกิจไทย ‘โลกสองใบ’
รายงานของ SCB EIC ยังชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถูกแบ่งเป็นสองโลก โดยกลุ่มแรกคือ "ธุรกิจและประชาชนที่แข็งแกร่ง" ปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ และมีขนาดใหญ่ ส่วนกลุ่มที่สองคือ "ธุรกิจและประชาชนที่อ่อนแอ" ยังใช้รูปแบบเดิม และมีขนาดเล็ก โดยผลสำรวจพบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่มีเงินออม และ 1 ใน 3 ไม่มีประกันคุ้มครองเมื่อประสบกับความไม่แน่นอน สะท้อนความเปราะบางของคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ
อีกหนึ่งปัญหาที่กัดกินเศรษฐกิจไทยคือ “หนี้ครัวเรือน” ที่เป็นความกังวลหลัก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาทั้งหมดโดยข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า 70% ของลูกหนี้ที่เป็น NPL ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ในด้านการคลัง แม้ประเทศไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤต แต่ความเสี่ยงทางการคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากแผนการคลังระยะปานกลางที่แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และ “จุดพลิกกลับ” (จุดที่คาดว่าหนี้สาธารณะจะแตะจุดสูงสุด) เลื่อนออกไปจากปี 2026 เป็นปี 2027 ส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังในอนาคตมีข้อจำกัดมากขึ้น
ดร. สมประวิณ เสนอแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสองมาตรการหลัก คือ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอยในประเทศ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยลดการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ และเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้นำเงินมาลงทุนและใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระจายความมั่งคั่งและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยในปี 2025 ดร. สมประวิณประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวในปีหน้า ณ การประชุมเดือนก.พ. ที่ 0.25% แม้ในมุมมองส่วนตัวในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จะเห็นว่ายังมีพื้นที่ (Policy Space) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกเพราะจะมีผลช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศได้บางส่วน ท่ามกลางสถานการณ์สินเชื่อกลับมีแนวโน้มน่ากังวล ทั้งสัดส่วน NPL ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดที่สุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะต่อไปควรออกมาในรูปแบบของชุดนโยบายที่ผสมผสานทั้งนโยบายการเงินและการคลัง พร้อมตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์กล้าที่จะลงทุนและปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยหากทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนนโยบายเศรษฐกิจร่วมกันมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวและสามารถกลับไปเติบโตได้ในระดับ 3-4% ในช่วงปี 2027-2028