จับตา 'นายกฯ' นั่งหัวโต๊ะถก 'กพช.' เบรกซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กว่า 2 พันเมกะวัตต์
จับตาที่ประชุม กพช. ที่มี "นายกฯ" เป็นประธานสั่งเบรกรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวกว่า 2,000 เมกะวัตต์ วันนี้ หลังจะมีการประชุม กพช. ระบุเป็นมติของรัฐบาลเดิม ขณะที่ก่อนหน้านี้ "พีระพันธุ์" ได้มีคำสั่งระงับชั่วคราวไปแล้ว แต่ "กกพ." ยืนยันเดินตามมติ กพช. เดิม
"ฐานเศรษฐกิจ" รายงานว่า วันนี้ (25 ธ.ค.2567) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
สำหรับการประชุมดังกล่าวจะมีวาระสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย
1. การพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการชะลอผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 (ไฟฟ้าสีเขียว) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 เพิ่มเติม 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี พ.ศ.2571 - 2573
และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ พ.ศ.2569 - 2573 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้พิจารณาเห็นชอบ และออกประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.กำหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ใน 14 วัน สำหรับกลุ่มที่ 1 และภายใน 60 วันสำหรับกลุ่มที่ 2 สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจประธาน กพช.ชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน เพราะโครงการถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย
ทำให้ก่อนหน้านี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึงสำนักงาน กกพ.ให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวชั่วคราวแล้ว รวมถึงให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเสร็จสิ้น และสำนักงาน กกพ.สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับแจ้งว่ารัฐมนตรีไม่ได้สอบถามอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโครงการ อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีเพียงเพื่อรักษาการตาม พ.ร.บ.เท่านั้น และ กกพ.เป็นองค์กรอิสระ กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา
2. กพช.จะพิจารณาขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงาน ทดแทนที่เอกชนผลิตได้แต่ไม่ได้เข้าระบบ ช่วงราคาพลังงานโลกพุ่งสูง กพช. มีมติให้ กกพ.รับซื้อราคาไม่แพง อาทิ ไฟฟ้าจากโซลาร์ ชีวมวล ยอดรวมไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะขยายออกไปอีก 1 ปี
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามหลักการแล้ว กกพ.ถือเป็นองค์กรอิสระที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยอ้างมติของ กพช. เมื่อปี 2566 คือ กพช.ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
ซึ่งก็มีความสงสัยอยู่แล้ว อีกทั้งเรื่องนี้มีความซับซ้อนอยู่ ดังนั้น ในการประชุม กพช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปศึกษา ข้อเท็จจริง โดยมีการแจ้งขอให้ ชะลอการรับซื้อไปก่อน แต่ปรากฏว่า กกพ. ไม่ได้ชะลอ ยังคงเดินหน้าคัดเลือก ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม
สำหรับเรื่องดังกล่าวนี้ กพช.ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การใช้มติของ กพช.เมื่อปี 2566 ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้น คณะกรรมการ กพช.ชุดปัจจุบัน ก็จะมีการเรียกประชุมเพื่อดำเนินการอีกครั้ง
แหล่งข่าวจาก กพช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กพช.จะมีการประชุมในวันนี้เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยคาดว่าจะมีการสั่งการให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวไปก่อน เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงอีกครั้ง
แหล่งข่าวจาก กกพ. ระบุว่า คำสั่งของ กพช.ถือเป็นเด็ดขาด และมีอำนาจสูงกว่า ซึ่งหาก กพช.มีมติให้ชะลอ กกพ.ก็ต้องปฏิบัติตาม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์