ส่งออกไทยแรงต่อเนื่อง เดือนพ.ย.ขยายตัว 8.2%
พาณิชย์ เผย การส่งออกเดือนพ.ย.มูลค่า 25,608.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ได้รับอานิสงส์จากส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี คาด ธ.ค.ยังแรงต่อ มั่นใจทั้งปีส่งออกแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.2%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. มีมูลค่า 25,608.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 7.0 % การนำเข้า มีมูลค่า 25,832.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.9 % ส่งผลให้ไทยขาดดุล 224.4 ล้านดอลลาร์
การส่งออกในเดือนพ.ย.มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่ และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตร และอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.9
สำหรับภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.1 % ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้าน ขยายตัว 5.7 % ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านดอลลาร์
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกไทยในเดือนพ.ย.ที่ขยายตัว 8.2 % มาจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 5.7 % โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 4.1 % และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.7 % โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล และไขมัน และน้ำมันจากพืช และสัตว์ ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.7
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.5 % โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.5 %
ด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าในอนาคต โดยตลาดหลัก ขยายตัว 8.3 % โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป (27) และ CLMV ขณะที่ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 7.1 %โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และสหราชอาณาจักร ขณะที่ตลาดรัสเซีย และกลุ่ม CIS และ ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 29.0 %
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.คาดว่า จะมีมูลค่า 24,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากรวมทั้งปีการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 5.2 % แตะ 3 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 65 ที่มีมูลค่าการส่งออก 287,400 ล้านดอลลาร์ สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ
สำหรับแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3 % ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ ไปจนถึงการเร่งผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมพันธมิตรทางการค้าในทุกภูมิภาค ประกอบกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เหลือเดือนธ.ค.อีกเดือนเดียว มีความเป็นไปได้ที่ปีนี้น่าจะทำตัวเลขได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนปีหน้า 2-3% เป็นการตั้งตัวเลขที่ท้าทาย เพราะมีปัญหามากมาย ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ กฎระเบียบสิ่งแวดล้อม นโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องระวัง และต้องหาทางลดต้นทุน เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการในทันที
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์