เกษตร ลุยต่อปี 68 สร้างรายได้ สางหนี้ ปูพรมจัดการที่ดิน เพิ่มมูลค่าสินค้าไทย
“นฤมล”เปิดแผนปี 2568 สานต่อ 9 นโยบายภาคเกษตรดึงเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการผลิต ส่งอัตลักษณ์ไทยดันเทรดสินค้าสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่ม พร้อมเร่งแก้หนี้ครัวเรือน วางระบบจัดการที่ดินทำกินพร้อมขึ้นทะเบียนเกษตรกรส่งดาต้าสู่แผนพัฒนาที่แม่นยำ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแผนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2568 ว่า ทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง และระดับพื้นที่ จะยังคงสานต่อ 9 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ และพร้อมจับมือกับทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย มุ่งเน้นเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น เกษตรแม่นยำ หรือเกษตรอัจฉริยะ มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง การจัดการที่ดินทำกินให้เกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ ดึงจุดเด่นของประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ของเกษตรกร
โดยมีภารกิจสำคัญ ครอบคลุมนโยบายต่างๆ ที่สำคัญของรัฐบาล และของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย นโยบายการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประชาชน เป้าหมาย 580,000 ราย พัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน (โครงการหลวง และการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง) 87,700 ราย รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินงาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริแก่เกษตรกร เป้าหมาย 105,964 ราย
เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
นโยบายเร่งด่วนเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบจัดการหนี้ให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร 1,100 ราย และส่งเสริมสนับสนุนการฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพ 1,065 องค์กร ส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีการบริหารจัดการสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก 700 แห่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเช่น พัฒนาพื้นที่ผ่านระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3,295 แปลงเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาสินค้าเกษตร อาทิ ผลิตและขยายพืชพันธุ์ดี 3,000,000 ต้น ผลิต และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี 255,070 ตัน ปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ 616 ล้านตัว พัฒนาปรับปรุงพันธุ์สัตว์ 883,700 ตัว การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเหมาะสมโดยปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมมาผลิตพืชชนิดใหม่ที่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-Map 61,625 ไร่
การสร้างมูลค่าเพิ่มส่งเสริมเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน 240,000 เมตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว 3 ผลิตภัณฑ์ ปศุสัตว์ 4 ผลิตภัณฑ์ ประมง 2 ชนิดส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ข้าว 10,000 ไร่ ประมง 650 ราย ปศุสัตว์ 200 ไร่ 60 ราย รับรองแบบมีส่วนร่วม 10,000 ไร่ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ 32,500 ราย ส่งเสริมเกษตรผสมผสาน 800 รายส่งเสริมเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP (การผลิตทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices) ด้านพืช 150,000 แปลง หม่อน 600 แปลง ประมง 15,361 แห่ง ปศุสัตว์ 12,974 แห่ง และ GMP (หลักเกณฑ์กระบวนการที่ดีในการผลิต หรือ Good Manufacturing Practice) ด้านพืช 600 โรงงาน ประมง 1,644 แห่ง ปศุสัตว์ 312 แห่ง ฮาลาล 245 แห่ง ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้า ด้านพืช 150,000 ตัวอย่าง ผ้าไหม 12 ตัน ประมง 51,400 ตัวอย่าง ปศุสัตว์ 310,312 ตัวอย่าง บังคับใช้มาตรฐานบังคับ 1 กลุ่มสินค้า
หนุนส่งเสริมการตลาดระดับชุมชน
ส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าเกษตร เช่น โครงการส่งเสริมตลาดผู้บริโภคผลไม้ไทยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกสถาบันเกษตรกร ผู้ปลูกผลไม้ และผลิตสินค้าผลไม้แปรรูป ได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ราย คาดว่ามูลค่าการจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในไม้ผลเศรษฐกิจหลัก 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลิ้นจี่ และ ลำไย ที่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกรนำมาจำหน่ายในกิจกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 15% จากมูลค่าจำหน่ายหน้าสวนโครงการพัฒนาธุรกิจสินค้าเกษตรสู่ตลาดในประเทศ และต่างประเทศสร้างความรับรู้ถึงคุณภาพ มาตรฐานที่เป็นอัตลักษณ์ของสินค้าเกษตรเศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทย
กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าเกษตรเมืองร้อนมูลค่าสูง ซึ่งคาดว่า มีผู้เข้าร่วมจัดงานและผู้เข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านคน เกิดการเจรจาธุรกิจไม่น้อยกว่า 7 รายการพัฒนา และส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร เช่น ผลักดันนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) เตรียมรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการด้านการเกษตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบลงทะเบียนให้เกษตรกร และจัดทำคู่มือ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันฤดูกาลผลิตหน้าที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน ได้มีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในปี 2567 โดยมีเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนเครื่องจักรกลทางการเกษตรแล้ว ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้จะสามารถมาปรับปรุงทะเบียนประกอบกิจการด้านการเกษตรให้เป็นปัจจุบันได้ต่อไป ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญๆ อาทิ ด้านหม่อนไหม 10 แห่ง และประชาสัมพันธ์การจัดการมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569
เพิ่มประสิทธิภาพจัดการที่ดินรัฐ
นโยบายระยะกลาง และระยะยาวได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐจัดที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม จัดที่ดินทำกินแก่เกษตรกร 37,000 ราย ปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร 1,066,643 แปลง เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำโฉนดเพื่อการเกษตรไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตยกระดับการบริหารจัดการน้ำก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ 15 แห่ง ปริมาตรกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 25.20 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 45,055 ไร่ การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นาขนาด 1,260 ลบ.ม. 23,000 บ่อ จัดทำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทางการเกษตรขึ้นทะเบียน และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ด้านเพาะปลูกหรือกิจกรรมทางการเกษตร 6,000,000 ครัวเรือน ด้านปศุสัตว์ 2,720,000 ราย ด้านการประมง 357,200 ราย
การอำนวยการบริหารจัดการด้านการเกษตร อาทิ พัฒนา และสร้างระบบประกันภัยให้เกษตรกรขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต่อเนื่อง และเตรียมขยายผลไปยังมันสำปะหลัง ตลอดจนศึกษารูปแบบการประกันภัย เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจให้มากขึ้นควบคุม และตรวจสอบการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรด้านปศุสัตว์ 5,664 ครั้ง และด้านประมง 51,035 ครั้ง รวมทั้ง เฝ้าระวัง ตรวจวิเคราะห์ ด้านปศุสัตว์ 239,123 ตัวอย่าง และด้านประมง 45,500 ตัวอย่าง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์