สกพอ.ส่ง 'กฤษฎีกา' เคลียร์ทาง ชง ครม.แก้สัญญาไฮสปีด CP
การรถไฟฯ มั่นใจ ม.ค.นี้ ดันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินเข้า ครม. เคาะลงนาม “ซีพี” พร้อมลุยสร้างทันที แจงกรณีล้มประมูลเพื่อดึงโครงการกลับมาสร้างเองและเปิด PPP จัดหาเอกชนเดินรถใหม่ เป็นเพียงโมเดลหากไม่สามารถแก้ไขสัญญาได้
KEY
POINTS
- การรถไฟฯ มั่นใจ ม.ค.นี้ ดันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินเข้า ครม. เคาะลงนาม "ซีพี" พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า
- สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นทางกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องมีความรอบคอบทางกฎหมาย
- "คลัง" ชู 5 ประเด็นหลักเห็นชอบแก้ไขสัญญา ย้ำเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการภายใน 5 ปี
- แจงกรณี "ล้มประมูล" เพื่อดึงโครงการกลับมาสร้างเองและเปิด PPP จัดหาเอกชนเดินรถใหม่ เป็นเพียงโมเดลหากไม่สามารถแก้ไขสัญญาได้ การรถไฟฯ พร้อมเดินหน้าสร้างเองภายใต้งบประมาณรัฐบาล
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอราวันจำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 หลังชนะการประมูลและขอรับเงินร่วมลงทุนจากรัฐต่ำสุด 117,226 ล้านบาท
ในปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ขอให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาผลกระทบที่ทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง และมีผลต่อประมาณการณ์ผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเยียวยาเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 และนำมาสู่การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนถึงปัจจุบัน
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบแก้ไขสัญญา 5 ประเด็น เมื่อเดือน ต.ค.2567 และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อยู่ระหว่างเตรียมเรื่องเสนอ ครม.
ทั้งนี้ เดิมมีแผนจะเสนอภายในปี 2567 แต่ต้องสอบถามความเห็นทางกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญถึงการดำเนินงานต้องมีความรอบคอบทางกฎหมาย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ เนื่องจากมีการปรับขั้นตอนการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน
สำหรับก่อนหน้านี้จะเสนอพิจารณาแก้ไขสัญญาเข้า ครม. 2 รอบ แบ่งเป็น เสนอเพื่อพิจารณาในหลักการ และกลับมาทำร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบ ก่อนเสนอกลับไป ครม.อนุมัติอีกครั้ง แต่ตอนนี้ปรับแผนงานเป็นนำร่างสัญญาใหม่ให้อัยการตรวจสอบเลย เมื่อแล้วเสร็จจึงจะเสนอไป ครม.พิจารณาคราวครั้งเดียว ทำให้ต้องตรวจสอบรายละเอียดไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สกพอ.เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือน ม.ค.2568 เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวตามที่ได้เจรจากับเอกชนคู่สัญญา
โดยปัจจุบันยังยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะเดินหน้าไปตามมติของที่ประชุม กพอ. คือ การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และยังไม่มีการเจรจาถึงแนวทางยกเลิกสัญญาเพื่อเปิดประมูลจัดหาเอกชนรายใหม่ รวมถึงแนวทางที่จะให้ รฟท.กลับมาลงทุนพัฒนางานโยธาเอง และนำเปิดจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเฉพาะส่วนของงานเดินรถ
“ตอนนี้คณะทำงานทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งมีตัวแทนจากการรถไฟฯ สกพอ.และเอกชน ยังคงมีข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขสัญญาร่วมทุนและเดินหน้าโครงการ ที่ผ่านมายังไม่เคยหารือถึงการยกเลิกสัญญาและเปิดประมูลใหม่ แต่หากท้ายที่สุดเป็นนโยบายของรัฐบาล การรถไฟฯ ยืนยันความพร้อมที่จะดำเนินโครงการนี้เอง”
นายวีริศ กล่าวว่า หาก ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรแก้ไขสัญญาร่วมทุน และนำไปสู่การเปิดประมูลโดยแบ่งสัญญาออกเป็นภาครัฐรับผิดชอบงานโยธา และภาคเอกชนรับผิดชอบงานเดินรถ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกันกับหลายๆ โครงการรถไฟฟ้า ทาง รฟท.ยืนยันว่าไม่ได้ขัดอะไร แต่รัฐบาลต้องจัดหาแหล่งเงินในการลงทุนงานโยธา
อีกทั้งเชื่อว่าหากจะดำเนินการลักษณะนี้คงต้องจัดลำดับความสำคัญทางการลงทุน เนื่องด้วยปัจจุบัน รฟท.มีโครงการเตรียมลงทุนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง และโครงการไฮสปีดไทยจีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย โดยโครงการเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการในปี 2568 ดังนั้น มองว่า รฟท.มีโครงการที่ต้องลงทุนจำนวนมาก และหากต้องนำโครงการไฮสปีดสามสนามบินกลับมาดำเนินการเอง ก็จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญ
“ต้องรอให้รัฐบาลพิจารณาก่อน ซึ่งหากจะไปสู่การยกเลิกสัญญาต้องพิจารณาถึงส่วนได้ส่วนเสียด้วย ต้องพิจารณาแง่กฎหมายว่ากรณียกเลิกสัญญาต้องชดใช้คู่สัญญาหรือไม่ และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งหากจะประมูลใหม่ก็ต้องยอมรับว่านอกจากจะทำให้โครงการนี้ล่าช้าแล้ว จะกระทบไปถึงสัญญาโครงสร้างร่วมไฮสปีดไทย-จีนที่ยังรอการก่อสร้างในช่วงทับซ้อนบางซื่อ-ดอนเมือง”
ยกเลิกสัญญาได้หาก “ซีพี” ไม่ลงนามสัญญา
นายจุฬา กล่าวว่า ประเด็นการยกเลิกสัญญาและเปิดประมูลใหม่นั้น เป็นเพียงการประเมินแผนหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา เพื่อเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาแก้ไขร่างสัญญาร่วมทุน ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ภายในเดือน ม.ค.2568 หลังจากนั้นจึงจะลงนามสัญญากับเอกชนคู่สัญญาต่อไป
ทั้งนี้ จากการปรับแผนงานดังกล่าวทำให้ภาพรวมการดำเนินงานล่าช้าออกไป 1 เดือน จากเดิมคาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาภายใน ธ.ค.2567 เพื่อแก้ไขสัญญา และให้เอกชนเริ่มก่อสร้างทันทีในไตรมาส 1 ปีหน้า แต่ขณะนี้จะขยับไทม์ไลน์ออกไป 1 เดือน โดยคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือน ม.ค.2568 แต่ยังมั่นใจว่า รฟท. จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 1 ปีหน้าเช่นเดิม
นายจุฬา กล่าวด้วยว่า กรณีที่จะนำไปสู่การยกเลิกสัญญากับกลุ่มซีพี จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกรณีเอกชนไม่ลงนามสัญญาหรือไม่เริ่มก่อสร้างโครงการ หลังจากนั้นภาครัฐโดย รฟท.เนื่องจากเป็นเจ้าของโครงการนี้ต้องดำเนินการเอง ซึ่งเงินทุนก่อสร้างหากโครงการนี้ผ่านการพิจารณาจาก ครม.ต้องเตรียมงบประมาณลงทุน 1.2 แสนล้านบาทอยู่แล้ว
ดังนั้นหากเอกชนไม่ดำเนินการภาครัฐนำงบประมาณส่วนนี้มาดำเนินการก่อสร้างเองได้ และหลังจากนั้นจึงไปศึกษาต่อว่าจะใช้รูปแบบ PPP เดินรถหรือไม่ อย่างไร
“คลัง” ชู 5 ประเด็นหลักเห็นชอบแก้ไขสัญญา
สำหรับผลของการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนล่าสุด กพอ.ที่มีนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเห็นชอบแก้ไขสัญญา 5 ประเด็น คือ
1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน สำหรับการวางหลักประกันนั้น เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้แต่เมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที
“เอกชน” วางค้ำประกันเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์
2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ
3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกัน
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด
5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น