โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน จุดเปลี่ยนเมกะโปรเจกต์ประเทศไทย
กระทรวงคมนาคมประกาศเป้าหมายพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมอย่างยั่งยืน มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573 ชูมาตรการสร้างจุดเปลี่ยนเมกะโปรเจกต์ในไทย
KEY
POINTS
- "คมนาคม" ประกาศเป้าหมายพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมอย่างยั่งยืน มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573
- สนข. ชู 4 มาตรการสร้างจุดเปลี่ยนเมกะโปรเจกต์ในไทย ผ่านการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาระบบขนส่งในเมือง ขยายโลจิสติกส์ระหว่างเมือง และเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์
กระทรวงคมนาคมประกาศเป้าหมายพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันเป้าหมายของไทยในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 เมื่อปี 2564
ภายใต้แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) หรือ Thailand's Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 หรือ NDC Roadmap จากเดิม 20-25% เป็น 30-40% ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งคิดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 167-222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ในส่วนของภาคคมนาคมขนส่ง ได้รับมอบหมายให้ลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคม เพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC รวมทั้งบรรลุเป้าหมายตามแผนระยะยาวในการมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)
ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของการขยายตัวของภาคขนส่ง
โดยขณะนี้ สนข.ได้ทำการศึกษาแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564 – 2573 กำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภาคขนส่ง 45.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แบ่งเป็น
1.มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 28.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีแผนดำเนินงานผผลักดันการเปลี่ยนแปลงรถโดยสารไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) จะต้องก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (อีวี)
2.มาตรการพัฒนาระบบขนส่งในเมือง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 1.78 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยแผนดำเนินงานเบื้องต้น กระทรวงคมนาคมจะเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองหลักในภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น โดยเน้นเป็นโครงการรถไฟฟ้า เนื่องจากสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ และยังขนส่งผู้โดยสารได้จำนวนมาก ช่วยลดต้นทุนการเดินทางได้
3.มาตรการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเมือง คาดว่าจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 1.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกระทรวงฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนารถไฟทางคู่ รวมไปถึงผลักดันการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา – หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งไทย - ลาว – จีน
4.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์ คาดว่าจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 13.94 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีแผนจัดเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ และผลักดันมาตรการใช้มาตรฐานการปล่อยไอเสียยูโร 5 (มาตรฐานยูโร 5) หรือ EURO 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ในประเทศ
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการสนับสนุน คือ 1.มาตรการส่งเสริมพลังงานทางเลือกในอนาคตสำหรับภาคขนส่ง โดยมุ่งเน้นการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน และ 2.มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง ผ่านการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากการขนส่งทางถนนสู่การขนส่งทางรางและทางน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนโลจิสติกส์
ช่วงเวลาที่จะเร่งทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้กำลังลดลงไปทุกวินาที ทุกนาที ทุกวันในแต่ละปี แต่สิ่งที่เสียมากกว่าเวลาคือโอกาสที่จะพัฒนาเพื่อความยั่งยืนร่วมกันซึ่งการคมนาคมขนส่งก็จะเป็นอีกผู้เล่นที่สำคัญที่จะช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้