ย้อนเหตุการณ์ 'คมนาคม' ปี 2567 สารพัดอุบัติเหตุ สู่นโยบาย 'ล้อมคอก'
ย้อน 5 เหตุการณ์อุบัติเหตุ "คมนาคม" ในปี 2567 สู่นโยบาย "ล้อมคอก" เร่งจัดทำสมุดพกยกมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพิ่มบทลงโทษผู้รับเหมา สร้างผลกระทบต่อประชาชนเตรียมถูกคาดโทษขึ้นบัญชีดำห้ามประมูลงานในอนาคต
KEY
POINTS
- ย้อน 5 เหตุการณ์อุบัติเหตุ "คมนาคม" ในปี 2567 สู่นโยบาย "ล้อมคอก" เร่งจัดทำสมุดพกยกมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพิ่มบทลงโทษผู้รับเหมา สร้างผลกระทบต่อประชาชนเตรียมถูกคาดโทษขึ้นบัญชีดำห้ามประมูลงานในอนาคต
- "สุริยะ" เผยอยู่ระหว่างเร่งหารือร่วม "คลัง" กำหนดเกณฑ์หรือโทษเอาผิดที่จะมีผลต่อการขึ้นบัญชีดำตกชั้นเข้าร่วมประมูลโครงการ คาดในปี 2568 จะได้เห็นภาพความชัดเจนมากขึ้น
ปี 2567 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ กระทรวงคมนาคม เร่งงานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และรองรับการเดินทางของประชาชนให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ โครงการระบบขนส่งทางราง มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟทางคู่
อย่างไรก็ดี จากการก่อสร้างโครงการต่างๆ แม้ว่าผู้รับเหมาจะมีมาตรการด้านความปลอดภัย แต่กลับพบว่าในปีที่ผ่านมายังมีอุบัติเหตุ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับโครงการในสังกัดกระทรวงคมนาคม “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในปี 2567 และกลายเป็นบทเรียนให้กับกระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแลความปลอดภัยของโครงการด้านคมนาคมให้เข้มงวดมากขึ้น
5 เหตุการณ์อุบัติเหตุ "คมนาคม" ในปี 2567
1. รถไฟฟ้าสายสีเหลืองล้อหลุด
วันที่ 2 ม.ค.2567 “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” เกิดเหตุล้อหลุดตกลงมาใส่รถแท็กซี่ได้รับความเสียหายที่บริเวณถนนเทพารักษ์ ขาออกก่อนถึงสถานีศรีเทพา จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างสถานีศรีเทพา และศรีด่าน แต่โชคดีที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ ซึ่งการตรวจสอบของกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สาเหตุเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา
2. รถไฟฟ้าสายสีเหลืองรางจ่ายไฟร่วง
วันที่ 28 มี.ค.2567 “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” เกิดเหตุแผ่นเหล็ก (Finger Plate) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของทางวิ่ง (Expansion Joint) ได้มีการเลื่อนออกจากตำแหน่ง เมื่อขบวนรถเคลื่อนที่ผ่าน ทำให้แผ่นเหล็กดังกล่าวเคลื่อนตัวไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกจากตำแหน่ง ระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) – สถานีศรีอุดม (YL16) ส่งผลให้รถยนต์ จำนวน 2 คัน และจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
3. ดินถล่มอุโมงค์ไฮสปีดไทยจีน
เมื่อเวลา 23.40 น. ของคืนวันที่ 24 ส.ค.2567 เกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิต ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา สัญญา 3-2 งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง เป็นเหตุให้มีคนงานที่กำลังปฏิบัติงานขุดเจาะอุโมงค์ ติดอยู่ภายใน 3 ราย
4. เหตุเพลิงไหม้รถบัสนักเรียน
1 ต.ค. 2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัส ทัศนศึกษาจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย มีผู้เสียชีวิตมากถึง 23 ราย เป็นนักเรียน 20 คน และครู 3 คนและสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ เบื้องต้นยืนยันได้ว่าเกิดจากการรั่วไหลของแก๊สบริเวณส่วนหน้าของรถ รวมทั้งรถคันดังกล่าวติดตั้งถังแก๊สมากถึง 11 ถัง แต่จดทะเบียนแจ้งไว้เพียง 6 ถัง ทำให้เรื่องนี้สะท้อนถึงข้อบกพร่องของเจ้าพนักงานในการตรวจสอบมาตรฐานรถบัสด้วย
5. คานปูนและเครนถล่มบนถนนพระราม 2
29 พ.ย.2567 เกิดเหตุคานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1 ถล่มขณะกำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้คนงานที่ปฏิบัติงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดนำมาสู่ “นโยบาย ล้อมคอก” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ และเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้รับเหมา และผู้รับสัมปทานในโครงการต่างๆ โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศให้มีการเร่งจัดทำ “สมุดพก” เพื่อกำหนดบทลงโทษหากผู้รับเหมาหรือผู้รับสัมปทานทำผิด สร้างผลกระทบต่อประชาชน ต้องรับโทษตกชั้นเข้าร่วมประมูลโครงการอื่นๆ ในอนาคต
“กระทรวงฯ ทราบดีว่าประชาชนกำลังกังวลต่อการกำกับดูแลของกระทรวงฯ ในการเอาผิดผู้รับเหมาที่ทำให้เกิดเหตุกระทบต่อความปลอดภัย เพราะปัจจุบันในสัญญามีเฉพาะบทปรับ ภาครัฐทำอะไรนอกเหนือจากนี้ไม่ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นก็พบว่าผู้รับเหมาไม่เกรงกลัวกับโทษปรับเท่าไหร่ ทำให้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างเร่งจัดทำสมุดพกเข้ามาควบคุมมาตรฐานเพิ่มเติม”
อย่างไรก็ดี การจัดทำสมุดพกเพื่อกำหนดเกณฑ์หรือโทษเอาผิดที่จะมีผลต่อการขึ้นบัญชีดำตกชั้นเข้าร่วมประมูลโครงการในอนาคตนั้น ถือเป็นอำนาจของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำให้เรื่องนี้กระทรวงฯ ต้องประสานไปยังกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลและร่วมกันกำหนดเกณฑ์เอาผิด โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำข้อมูลปัญหา และบทลงโทษเพื่อเตรียมไปหารือกับกรมบัญชีกลาง ดังนั้นในปี 2568 น่าจะได้เห็นภาพความชัดเจนมากขึ้น