ปี 2568 แผนเร่ง 3 โครงการ 'รถไฟฟ้า' ขยายโครงข่ายใยแมงมุม 40 กิโลเมตร
รฟม.โชว์ความคืบหน้างานก่อสร้าง 3 โครงการรถไฟฟ้า หวังขยายโครงข่ายใยแมงมุมเพิ่มรวมกว่า 40 กิโลเมตร ประเดิมสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ใกล้แล้วเสร็จ เตรียมเปิดบริการปี 2568 ขณะที่สายสีม่วงใต้ และสายสีส้มตะวันตก กางแผนปิดพื้นที่เร่งก่อสร้าง
KEY
POINTS
- รฟม.โชว์ความคืบหน้างานก่อสร้าง 3 โครงการรถไฟฟ้า หวังขยายโครงข่ายใยแมงมุมเพิ่มรวมกว่า 40 กิโลเมตร ประเดิมสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ใกล้แล้วเสร็จ เตรียมเปิดบริการปี 2568
- สายสีม่วงใต้ คืบหน้างานโยธา 46.34% อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างกำแพงกันดินสถานี งานก่อสร้างโครงสร้างชั้นใต้ดิน งานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง งานก่อสร้างเสาเข็ม โครงสร้างสถานีและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ
- ขณะที่สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เร่งก่อสร้าง 5 สถานีแรก กางแผนทยอยรื้อย้าย 3 สะพานข้ามแยก ประกอบด้วย สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานข้ามแยกประตูน้ำ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ซึ่งพบว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ รวมระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร และมีความคืบหน้างานก่อสร้าง ประกอบด้วย
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ความก้าวหน้างานโยธา 82.13% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 72.91% ความก้าวหน้าโดยรวม 79.02%
2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.63 กิโลเมตร ปัจจุบันความก้าวหน้างานโยธาราว 46.34%
3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวมอยู่ที่ 3.09% เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.เพิ่งลงนามสัญญากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ร่วมลงทุน และส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567
อย่างไรก็ดี จากความคืบหน้าของงานก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการนั้น พบว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีความก้าวหน้างานก่อสร้างและใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งโครงการนี้เป็นการลงทุนของผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เบื้องต้น รฟม. ทราบว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568
“ในปี 2568 จะมีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเพิ่มเติม คือ สายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ซึ่งจะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์มากขึ้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการเดินทางเข้าชุมชน และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี”
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ดำเนินการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งกลุ่ม BSR เป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการทั้งหมดภายใต้งบ 4,072.60 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าวเริ่มก่อสร้างในวันที่ 20 มิ.ย.2565 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน จะสิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้างในวันที่ 19 ก.ค.2568 ซึ่งลักษณะงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งระยะทาง 3 กิโลเมตร และสถานีรถไฟฟ้า 2 สถานี ประกอบด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร1) และ สถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยโครงการมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะไปตามซอยแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 39 และสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี
ขณะที่อีกหนึ่งโครงการก่อสร้างที่พบว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธา 46.34% ซึ่งการดำเนินงานในภาพรวมของโครงการอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างกำแพงกันดินสถานี งานก่อสร้างโครงสร้างชั้นใต้ดิน งานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง งานก่อสร้างเสาเข็ม โครงสร้างสถานีและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ งานปรับพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างอาคารจอดรถไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี สำหรับแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)
นอกจากนี้ ยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอดที่เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ ภายในปี 2571
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นโครงการล่าสุดที่ รฟม.ได้ลงนามสัญญา และส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้าง ในปี 2568 โครงการนี้จะทยอยปิดพื้นที่งานก่อสร้าง โดยจะเร่งก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ พร้อมทั้งจะมีการทยอยรื้อย้ายในส่วนของสะพานข้ามแยก ประกอบด้วย
1. สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนสะพานในวันที่ 6 ม.ค.2568 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า และมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์คืนในเดือน ธ.ค. 2569 และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือน มิ.ย. 2571
2. สะพานข้ามแยกราชเทวี มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนสะพานในวันที่ 15 ม.ค. 2568 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า และมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแยกราชเทวี คืนในเดือน ธ.ค. 2569 และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือน เม.ย.2571
3. สะพานข้ามแยกประตูน้ำ มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนเฉพาะพื้นที่เชิงลาดขึ้นสะพาน 5 ช่วงเสา ระยะประมาณ 60 เมตร บริเวณหน้าห้าง Platinum ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2569 เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและดำเนินการคืนสภาพให้แล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2569 ทั้งนี้ ในการคืนสภาพจะมีการปรับปรุงสะพานให้มีช่องทางมากขึ้น โดยลดจำนวนเสาตอม่อสะพานบริเวณกลางแยกไปในคราวเดียวกัน