อบจ.ปทุมฯ ปั้นรังสิต คลองหลวง ท่าโขลง พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมมูลค่าสูง

อบจ.ปทุมฯ ปั้นรังสิต คลองหลวง ท่าโขลง พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมมูลค่าสูง

อบจ.ปทุมธานี ร่วม 3 มหาวิทยาลัยและพันธมิตร ปั้นรังสิต คลองหลวง ท่าโขลง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมมูลค่าสูง มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ สมุนไพรและอาหารนวัตกรรม ตั้งเป้า 3 ปีออกแบบกายภาพศูนย์เศรษฐกิจมาตรฐานระดับเอเซีย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1 แสนล้าน

พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กล่าวในงานแถลงข่าวประกาศเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุม SYNHUB Digi-Tech Community อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ว่า แผนจัดตั้งเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงจังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจต้นแบบของไทยที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างพื้นที่สมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี หอการค้าจังหวัดปทุมธานี กฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด

พร้อมเครือข่ายหน่วยงานนวัตกรรม ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC เมืองอุตสาหกรรมอาหาร และเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีกจังหวัดปทุมธานี 

อบจ.ปทุมฯ ปั้นรังสิต คลองหลวง ท่าโขลง พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมมูลค่าสูง

โดยเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงจังหวัดปทุมธานี ได้รวมพื้นที่เศรษฐกิจเข้มข้นของจังหวัดปทุมธานี 3 เทศบาลได้แก่ เทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองคลองหลวง และเทศเมืองท่าโขลงเข้าด้วยกัน รวมพื้นที่ 126.74 ตารางกิโลเมตร โดยนำจุดแข็งทางเศรษฐกิจของแต่ละบริเวณนำมาต่อยอดโดยอาศัยนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตนวัตกรรม ได้แก่ เทศบาลนครรังสิต ที่เป็นศูนย์ค้าปลีกและศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภาคขนาดใหญ่ของภาคกลาง

ทั้งนี้ มีพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 7 แสนตารางเมตรและปริมาณการเดินทางซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์เชื่อมต่อเปลี่ยนผ่านการเดินทาง (Multimodal Transportation Hub) โดยธรรมชาติบริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปารค์รังสิตที่มีปริมาณไม่ต่ำกว่าวันละ 2 แสนคน ไม่นับรวมจุดเปลี่ยนผ่านการเดินทางระบบรางของรถไฟสายสีแดง

อบจ.ปทุมฯ ปั้นรังสิต คลองหลวง ท่าโขลง พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมมูลค่าสูง

สำหรับเทศบาลเมืองคลองหลวง เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม คลังสินค้า ผสมผสานศูนย์บริการสถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีประชากรประจำและนักศึกษารวมกันมากกว่า 8 หมื่นคน ไม่นับรวมผู้ป่วยและผู้เยี่ยมไข้ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยบริการการแพทย์ขนาดใหญ่พื้นที่กรุงเทพฯ โซนเหนือ ไม่นับรวมพื้นที่ค้าปลีก 6 แสนตารางเมตรของโครงการบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ที่จะก่อสร้างบริเวณโรงงานไทยเมล่อนโปลีเอสเตอร์

ส่วนเทศบาลเมืองท่าโขลง มีจุดเด่นในการเป็นที่ตั้งของตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดผักและผลไม้ขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมีกลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกผักและผลไม้ประกอบการในพื้นที่วันละไม่น้อยกว่า 20,000 คน และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอุตสาหกรรมคลังสินค้าประเภทต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบ

ในส่วนกิจกรรมเศรษฐกิจของเขตนวัตกรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จะขับเคลื่อนเชิงลึกกับหน่วยงานนวัตกรรม ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย NECTEC MTEC BIOTECH และเมืองอุตสาหกรรมอาหาร Food Innopolis ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตนวัตกรรมฯ

รวมทั้ง DEPA ยกระดับมาตรฐานกิจการอุตสาหกรรมและบริการที่มีอยู่แล้วด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และความเชี่ยวชาญของหน่วยงานและนักวิจัย พร้อมกระตุ้นการลงทุนสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ในสาขา ดังนี้

  • อุตสาหกรรมดิจิทัล เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ
  • อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์
  • กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เน้นกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูง อาหารการแพทย์ อาหารเวลล์เนส อาหารอนาคต ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขั้นสูง ยาและชีวเภสัชภัณฑ์ พร้อมด้วยบริการทางการแพทย์หรือ Healthcare ขั้นสูง
  • กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ มุ่งสู่การสร้างเขตนวัตกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ผสมผสานเมืองนวัตกรรมสมุนไพรและอาหาร ที่มีความพร้อมด้านนิเวศนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี การทดสอบและการรับรองมาตรฐาน

ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทในปีที่สี่ของการดำเนินงาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจ 25% ของผลิตภัณฑ์จังหวัดปทุมธานี ที่ได้จากผลิตของเขตนวัตกรรมฯ

อบจ.ปทุมฯ ปั้นรังสิต คลองหลวง ท่าโขลง พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมมูลค่าสูง

พร้อมกันนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ยังเตรียมการเสนอกรมโยธาธิการและผังเมืองปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดปทุมธานีและผังเมืองรวมชุมชนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ต่อเนื่อง ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและการประกอบการทางธุรกิจ และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษต่อการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ทั้งการขนส่งทางรางและการขนส่งมวลชนรองรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานให้กิจการสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และอาคารเพื่อสุขภาพ (Healthy Building) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ของภาคอาคาร ภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหามลภาวะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ส่วนขั้นตอนการพัฒนาเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงนั้น ด้วยกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับเป็นเจ้าภาพการพัฒนาเขตนวัตกรรมมูลค่าสูงจำนวน 16 เขตทั่วประเทศ ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่าย จะเข้าร่วมจัดทำแผนงานและโครงการกับกระทรวง เพื่อผลักดันงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และจัดทำข้อเสนอปรับปรุงข้อกำหนดระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

รวมทั้งผลักดันให้เกิดการสนับสนุนระบบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนในเขตนวัตกรรมฯ หรือผู้อยู่ในซับพลายเชนของอุตสาหกรรม เพื่อจูงใจและเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่าสูงตามเป้าหมาย